กรมทางหลวงฟังเสียงชาวอยุธยาและปทุมธานี ครั้งที่ 2 เปิดรูปแบบการพัฒนา ทางหลวงหมายเลข 3309 ช่วงศูนย์ศิลปาชีพบางไทร-บางพูน กว่า 16 กม. เพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 กรมทางหลวง (ทล.) ได้จัดการประชุมสรุปผลการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง บนทางหลวงหมายเลข 3309 ช่วงศูนย์ศิลปาชีพบางไทร-บางพูน ระยะทางรวมประมาณ 16.80 กิโลเมตร เพื่อนำเสนอผลสรุปการพิจารณารูปแบบทางเลือกที่เหมาะสม พร้อมทั้งเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน สำหรับนำมาประกอบการพิจารณาออกแบบรายละเอียดถนนโครงการให้มีประสิทธิภาพต่อไป โดยมีนายไพจิตร โพธิ์จันทร์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปทุมธานี เป็นประธานเปิด มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี
บริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ ได้นำเสนอแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาโครงการ สำหรับแนวเส้นทางโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางหลวงหมายเลข 3309 ประมาณ กม.21+800 ถนนเป็นผิวทางแอสฟัลต์ ขนาด 2 ช่องจราจร จากนั้นประมาณ กม.34+188 แนวทางหลวงโครงการถูกทางหลวงหมายเลข 347 (ปทุมธานี-บางปะหัน) ตัดผ่านโดยจะเชื่อมกับทางคู่ขนานของทางหลวงหมายเลข 347 จากนั้นแนวทางหลวงโครงการไปตัดทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) ประมาณ กม.37+700 และไปสิ้นสุดโครงการที่ทางแยกจุดตัดทางหลวงหมายเลข 346 (ถนนรังสิต-ปทุมธานี) ประมาณ กม.38+558 ในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ระยะทางรวมประมาณ 16.80 กิโลเมตร
สำหรับรูปแบบการพัฒนาถนนโครงการ มีแนวคิดในการปรับปรุงประสิทธิภาพจราจร โดยจะทำการปรับปรุงรูปแบบถนนให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย โดยรูปแบบการปรับปรุงจะมีทั้งแบบ 2 ช่องจราจร และ 4 ช่องจราจร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณจราจรและสภาพปัจจุบันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีรูปแบบดังนี้
1. รูปแบบทางหลวงโครงการ ช่วง กม.21+338 ถึง กม.ที่ 34+400 เขตทาง 30 เมตร เป็นพื้นที่นอกชุมชน ออกแบบเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 ไหล่ทางข้างละ 2.50 เมตร
2. รูปแบบทางหลวง ช่วง กม.34+400 ถึง กม.37+151 ช่วงเขตทางแคบ เป็นชุมชนหนาแน่นมาก ออกแบบเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร กว้าง 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างละ 2.50 เมตร โดยมีระบบระบายน้ำด้านข้าง
3. รูปแบบทางหลวงโครงการ ช่วงกม.37+151 ถึง กม.38+220 เขตทาง 30 เมตร ปัจจุบันทางหลวงโครงการมีขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1 เมตร ผิวทางแอสฟัลติกคอนกรีต แนวคิดเบื้องต้นจะคงคันทางและโครงสร้างชั้นทางเดิมไว้ และปรับปรุงผิวทางใหม่ในกรณีผิวทางเดิมชำรุด
4. รูปแบบทางหลวงโครงการ กม.38+220 ถึง กม.38+558 ปัจจุบันทางหลวงโครงการมีขนาด 4 ช่องจราจร โดยในช่วง กม.38+220 ถึง กม.38+442 เป็นผิวทางแอสฟัลติกคอนกรีต และในช่วง กม.38+422 ถึง กม.38+558 เป็นผิวทางคอนกรีต แนวคิดเบื้องต้นจะคงผิวทางและโครงสร้างชั้นทางเดิมไว้ และปรับปรุงผิวทางใหม่ในกรณีผิวทางเดิมชำรุด
ส่วนรูปแบบทางแยกบริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3309 (แนวเส้นทางโครงการ) กับทางหลวงหมายเลข 347 ปัจจุบันในบริเวณ กม.34+258 เส้นทางโครงการทางหลวงหมายเลข
3309 จะมีแนวทางหลวงหมายเลข 347(ถนนปทุมธานี-บางปะหัน) ตัดผ่านไม่สามารถเดินทางต่อเนื่องโดยตรงได้ ต้องใช้ทางคู่ขนานทางหลวงหมายเลข 347 ไปกลับรถที่ถนนบางกะพึง โดยลอดใต้ทางหลวงหมายเลข 347 ซึ่งกำหนดความสูงได้ที่ 2.70 เมตร ทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการสัญจร
ที่ปรึกษาจึงมีแนวคิดในการปรับปรุงให้เป็นทางแยกต่างระดับเพื่อให้การจราจรบนทางหลวงหมายเลข 3309 มีความต่อเนื่องสมบูรณ์ โดยนำเสนอรูปแบบแนวคิด 4 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 รูปแบบทางลอดใต้ ทล.347 รูปแบบที่ 2 รูปแบบสะพานยกระดับแบบวน (Loop Ramp) ข้าม ทล.347 รูปแบบที่ 3 รูปแบบสะพานยกระดับข้าม ทล.347 ตามแนวทางหลวงโครงการเดิม รูปแบบที่ 4 รูปแบบสะพานยกระดับข้าม ทล.347 วนกลับเชื่อมถนนเดิม
จากการพิจารณาหลักเกณฑ์เปรียบเทียบต่างๆ สรุปได้ว่า รูปแบบที่ 4 รูปแบบสะพานยกระดับข้าม ทล.347 วนกลับเชื่อมถนนเดิมมีความเหมาะสมต่อการพัฒนาโครงการมากที่สุด โดยรูปแบบนี้มีขนาด 2 ช่องจราจร จากด้านตะวันออกไปด้านตะวันตก โดยด้านตะวันออก ออกแบบเป็นสะพานยกระดับตามแนวทางหลวงโครงการเดิม ข้าม ทล.347 มุ่งหน้าไปด้านตะวันตก ออกแบบเป็นสะพานยกระดับแบบวนกลับ ไปเชื่อมกับทางหลวงโครงการด้านตะวันตก ระยะทางประมาณ 841 เมตร ซึ่งรูปแบบนี้มีข้อดี ได้แก่ ช่วยลดผลกระทบต่อชุมชนสองข้างทางด้านฝั่งตะวันตก มีค่าดูแลรักษาน้อย เวนคืนพื้นที่ปานกลาง ใช้ความเร็วในการข้ามทางยกระดับได้ปานกลาง
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมครั้งนี้ กรมทางหลวง และบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาและออกแบบรายละเอียดของโครงการให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง โดยมีกำหนดจัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 ในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน 2566 และการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3) ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาในทุกด้านให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินงานต่อไป