xs
xsm
sm
md
lg

"วราวุธ" สั่งลุยตรวจคลองอีแอด แหลมผักเบี้ย หลังชาวบ้านร้องชำรุด ถูกทิ้งร้าง เร่งแก้ด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพชรบุรี - "วราวุธ" จี้ "ยุทธพล" นำรักษาการอธิบดีกรมทะเลและชายฝั่ง ลุยตรวจคลองอีแอด แหลมผักเบี้ย หลังชาวบ้านโอดชำรุด ถูกทิ้งร้าง แจงยิบงบถูกพับ สถานการณ์ โควิด-19 สั่งเร่งแก้ด่วน

วันนี้ (20 ส.ค.) นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงกรณีที่มีข้อร้องเรียนระบุสะพานชมธรรมชาติริมคลองอีแอด ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี มูลค่าการก่อสร้าง 26,061,000 บาท วัตถุประสงค์ในการก่อสร้างเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2565 ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนด แต่ปัจจุบันมีสภาพชำรุดเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ และไม่ได้รับการซ่อมแซม ถูกทิ้งร้าง

นายยุทธพล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ตน พร้อมด้วยนายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นางดาวรุ่ง ใจจริง ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน น.ส.อาทิตา จุ้ยจู่เอี้ยม เลขานุการกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายสืบสกุล หนูไชยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ตัวแทนบริษัทผู้รับจ้าง และคณะอาจารย์ด้านวิศวกรรมโยธา ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง

เบื้องต้น พบว่าเกิดความชำรุดเสียหายหลายจุด บริเวณสะพานมีการทรุดตัว ซึ่งได้รับผลกระทบจากคลื่นที่เกิดจากการสัญจรของเรือประมงขนาดใหญ่ซัด เพราะมีการสัญจรเข้าออกบริเวณดังกล่าวจำนวนมากต่อวัน ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของฐานสะพาน รวมถึงศาลาอเนกประสงค์เกิดความเสียหาย ประตูหน้าต่างชำรุดถูกบุกรุก งัดแงะ กระจกถูกทุบแตก ห้องน้ำสภาพใช้งานไม่ได้

โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ให้ข้อมูลว่า การสร้างสะพานชมธรรมชาติ อาคารอเนกประสงค์ระหว่างเส้นทางชมธรรมชาติ ห้องน้ำที่ไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว เป็นโครงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลตะวันตก กิจกรรมพัฒนาภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศป่าชายเลน ภายใต้โครงการป่าในเมือง ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ได้รับงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ 2563

โดยมีบริษัทเอกชนเป็นผู้รับจ้าง เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2563 ต่อมาประสบปัญหาสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และปัญหาการทำงานไม่เป็นเวลาเนื่องจากสถานที่ก่อสร้างมีน้ำขึ้นลงตลอดเวลา ทำให้มีการขยายเวลาดำเนินการออกไป กระทั่งสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 แต่จากการขยายเวลาการก่อสร้างเป็นระยะเวลานาน ส่งผลทางกฎหมาย งบประมาณถูกพับ ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินงบประมาณให้ผู้รับจ้างได้ เป็นจำนวนเงิน 12,795,390 บาท

นายยุทธพล กล่าวว่า กระทั่งกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่างได้รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณ โอนเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2565 ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อจ่ายชดเชยงบประมาณรายจ่ายที่ถูกพับไปดังกล่าว ทำให้สามารถชำระเงินให้ผู้รับจ้างได้ จำนวน 6,294,493 บาท คงค้างชำระ 6,500,869 บาท

นายยุทธพล กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำชับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 โดยให้ 1.เร่งประสานติดตามทางบริษัทผู้รับจ้างเข้าซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดให้เรียบร้อย เพื่อให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์ได้ 2.ประสานจังหวัดเพชรบุรี เพื่อจัดตั้งงบประมาณส่วนที่ยังขาดจำนวน 6,500,869 บาท ให้ผู้รับจ้าง 3.เมื่อซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดเรียบร้อยแล้วให้ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว และผู้ที่เข้าเยี่ยมชม








กำลังโหลดความคิดเห็น