xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียว 19,937 ไร่ 4 อำเภอปัตตานี และ 9,534 ไร่ 2 อำเภอเพชรบุรี เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงให้พื้นที่ป่าชายเลน 19,937 ไร่ อ.เมือง-หนองจิก-ยะหริ่ง-ไม้แก่น จ.ปัตตานี และ 9,534 ไร่ อ.บ้านแหลม-ชะอำ จ.เพชรบุรี เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์

วันนี้ (25ก.ค.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดปัตตานีเป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พ.ศ. .... และ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนในจังหวัดเพชรบุรีเป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยได้ดำเนินการพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในจังหวัดปัตตานีและจังหวัดเพชรบุรี ทั้งประชาชนทั่วไป ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ป่าชายเลน ชาวประมง ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติเห็นชอบในการเสนอร่างกฎกระทรวงดังกล่าวด้วยแล้ว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ร่างกฎกระทรวงนี้เป็นการออกตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้พื้นที่ป่าชายเลนเนื้อที่ประมาณ 19,937 ไร่ ใน ต. ท่ากำชำ ต. บางเขา ต. บางตาวา ต. ตุยง อ. หนองจิก, ต. รูสะมิแล ต. บานา ต. ตันหยงลุโละ อ. เมืองปัตตานี, ต. แหลมโพธิ์ ต. บางปู ต. ยามู ต. ตะโละกาโปร์ อ. ยะหริ่ง, ต. ไม้แก่น ต. ไทรทอง ต. ดอนทราย อ. ไม้แก่น จ. ปัตตานี และเนื้อที่ประมาณ 9,534 ไร่ ใน ต. บางตะบูน ต. บางตะบูนออก ต. บ้านแหลม ต. บางขุนไทร ต. ปากทะเล ต. บางแก้ว ต. แหลมผักเบี้ย อ. บ้านแหลม, ต. ชะอำ อ. ชะอำ จ. เพชรบุรี ซึ่งประกอบด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญและมีค่า เช่น พันธุ์ไม้ ของป่า และสัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนทิวทัศน์ที่สวยงามยิ่ง เป็นพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ รวมทั้งกำหนดมาตรการคุ้มครองเพื่อประโยชน์ในการสงวน การอนุรักษ์ และการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน ให้คงสภาพธรรมชาติและมีสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์

“การบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนภายในแนวเขตพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ให้ดำเนินการ อาทิ ให้ชุมชนชายฝั่งที่ได้ขึ้นทะเบียนตามระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยครอบคลุมทั้งมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม อย่างสมดุล การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการเพาะพันธุ์พืช หรือการปลูกฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่เสื่อมโทรมและใช้ประโยชน์จากไม้ที่ปลูกขึ้นที่มิใช่ไม้หวงห้ามเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เป็นต้น” น.ส.ทิพานัน กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น