xs
xsm
sm
md
lg

มท.เซ็ง! “ผู้รับเหมาทิ้งงาน” สร้างศูนย์ราชการแพร่-ซ่อมศาลากลางเชียงราย แถม 3 โครงการอีอีซีพัทยา ติดคนพื้นที่ไม่ให้สร้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย จับตา “งบลงทุน” ปี 66 ไตรมาสสอง เซ็ง! หลายโครงการล่าช้า เหตุ “ผู้รับเหมาทิ้งงาน” เฉพาะโครงการซ่อมศาลากลางเชียงราย-สร้างศูนย์ราชการแพร่ เกือบ 150 ล้าน ไม่คืบหน้า แถมผู้รับจ้างรายใหม่บางโครงการ เรียกค่าจ้างใหม่ เกินกว่าวงเงินเดิมที่ได้จัดสรร 10% ส่วน 3 โครงการยักษ์ EEC “เมืองพัทยา” กว่า 40 ล้าน ติดปัญหาผ่านทำประชาคมแล้ว แต่คนในพื้นที่ไม่ยินยอมลงนามอนุญาตสร้าง

วันนี้ (7 ส.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกระทรวงมหาดไทย รับทราบควาามคืบหน้าในการใช้จ่ายฯ

โดยเฉพาะกรณีหน่วยงาน ที่คาดว่า มีรายการที่เงินตกพับไปตามผลของกฎหมาย จำนวน 8 หน่วยงาน (ไม่รวมกรมโยธาธิการและผังเมือง) 14 รายการ วงเงิน 343.179 ล้านบาท

ที่น่าสนใจ เช่น งบประมาณ 143.614 ล้านบาท ในกำกับของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย (สป.มท.)

เป็น ค่าปรับปรุงซ่อมแซม “ศาลากลาง จ.เชียงราย หลังที่ 3” วงเงิน 6.615 ล้านบาท และค่าก่อสร้างศูนย์ราชการ จ.แพร่ วงเงินกว่า 137 ล้านบาท พบว่า งานล่าช้าเนื่องจาก “ผู้รับจ้างทิ้งงาน”

เฉพาะ ศูนย์ราชการ จ.แพร่ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 657,115,600 บาท ซึ่งเป็นงบผูกพันปีงบประมาณ 2563-2566

ดำเนินการก่อสร้างศูนย์ราชการ พร้อมสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ ต.น้ำชำ อ.เมืองแพร่ ณ บริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์

โดยมีผู้ชนะการเสนอราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า AKC ซึ่งเสนอราคาในการก่อสร้าง 550,000,000 บาท ระยะเวลาในการก่อสร้าง จำนวน 1,080 วัน โดยแบ่งงวดงานออกเป็น 237 งวด

ซึ่งเริ่มสัญญาตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2564 สิ้นสุดสัญญา 15 มีนาคม 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน เนื้อที่ 86-2-17 ไร่

มีความคืบหน้า ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 การปฏิบัติงานระยะเวลาตามสัญญา 1,080 วัน ใช้เวลาไปแล้ว 417 วัน เหลือเวลาครบสัญญา 663 วัน คิดเป็นร้อยละ 61.39

มูลค่างานก่อสร้างตามสัญญา 540 ล้านบาท เบิกจ่ายล่วงหน้าร้อยละ 15 ตามสัญญา จำนวน 81 ล้านบาท เบิกจ่ายงวดที่ 1 จำนวน 4.104 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 85.104 ล้านบาท คงเหลือ 454.4896 ล้านบาท ผลงานก่อสร้างตามแผนงานสะสมร้อยละ 23.95 ผลงานสะสมจริงร้อยละ 1.37 ช้ากว่าแผนงานร้อยละ 22.58

เมื่อปี 2565 ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ในขณะนั้น ได้เป็นประธานลงนามแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดแพร่แห่งใหม่ ระหว่างจังหวัดแพร่ (ผู้ว่าจ้าง) กับกิจการร่วมค้า AKC (ผู้รับจ้าง)

หลังจากที่กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นชอบให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของรูปรายการสิ่งก่อสร้าง โดยเปลี่ยนแปลงรายการจากเสาเข็มตอก เป็นเสาเข็มเจาะ

เพื่อให้งานฐานรากอาคารมีความแข็งแรง และอนุมัติให้แก้ไขสัญญาจ้าง ส่วนรูปแบบรายการอื่นยังคงเดิมตามสัญญา

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้เร่งรัดการดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามสัญญาและให้รายงานความคืบหน้าให้ทราบเป็นระยะ

เช่นเดียวกับ งบประมาณ 14.067 ล้านบาท ในกำกับของกรมการปกครอง พบว่า ค่าก่อสร้างอาคาร ที่พักอาศัยคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น ที่ทำการปกครอง จ.อำนาจเจริญ วงเงิน 13.2 ล้านบาท

และค่าก่อสร้างบ้านพักข้าราชการ ระดับ 7-8 จ.พิษณุโลก วงเงิน 8.67 แสนบาท

“เนื่องจากผู้รับจ้างทิ้งงาน ทั้ง 2 รายการ และได้เบิกเงินค่าจ้างส่วนที่เหลือล่วงหน้าไปแล้ว คาดว่า ไม่สามารถหาผู้รับจ้างดำเนินการได้ทัน และผู้รับจ้างรายใหม่ เรียกค่าจ้างเกินกว่างบที่ได้รับจัดสรร ร้อยละ 10”

ยังมี โครงการปรับปรุงอาคารอำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาชุมชน จ.นครนายก ในกำกับกรมการพัฒนาชุมชน รายการค่าวงเงิน 14.970 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับปรุงอาคารไม้ “เกิดการทรุดตัว” โดยอยู่ระหว่างสั่งหยุดงาน และแก้ไขแบบ

ขณะที่ โครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการคอนกรีตเลริมเหล็ก 3 ชั้น 6 ห้อง จ.เชียงราย ในกำกับ กรมที่ดิน วงเงิน 2.89 ล้านบาท พบว่า ล่าช้าเนื่องจากผู้รับจ้างขาดสภาพคล่อง

คณะกรรมการติดตาม ยังรับทราบ ค่าก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สาขานาทวี จ.สงขลา วงเงิน 43.323 ล้านบาท พบว่า งานล่าช้าเนื่องจากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการให้ตรงกับสภาพพื้นที่

รับทราบว่า โครงการรื้อย้ายท่อประปาเดิมและวางท่อประปาใหม่ทดแทน เพื่อรองรับงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ของ การประปานครหลวง (กปน.) วงเงิน 41.865 ล้านบาท

“ล่าช้าเหตุอยู่ระหว่างการจัดทำแบบ ให้สอดคล้องกับแบบของการรถไฟ ซึ่งคาดว่าจัดทำแบบเสร็จภายใน ไตรมาสที่ 4”

ยังมีโครงการของกรุงเทพมหานคร วงเงิน 183.412 ล้านบาท ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองเปรมประชากร ช่วงที่ 2 วงเงิน 84.374 ล้านบาท

และโครงการก่อสร้างท่อขนส่งนํ้าใต้ถนนพระรามที่ 6 คลองสามเสน วงเงิน 99 ล้านบาท พบว่า งานล่าช้าเนื่องจากมีปัญหาในแนวก่อสร้าง ได้แก่ สิ่งปลูกสร้างรุกลํ้าเสาไฟฟ้า สายสื่อสาร ท่อประปา ฯลฯ

ยังพบความล่าช้าในโครงการของ “เมืองพัทยา” 4 รายการ วงเงิน 44.337 ล้านบาท ได้แก่ การปรับปรุงซ่อมแซมสะพานทางเดินชุมชนนาเกลือ วงเงิน 1.280 ล้านบาท

ก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติตลาดลานโพธิ์ จุดชมทัศนียภาพปากคลองนาเกลือ และคลองนกยาง (สะพานยาว) เมืองพัทยา (EEC) วงเงิน 27 ล้านบาท

แผนปรับปรุงจุดชมทัศนียภาพปากคลองนาเกลือและคลองนกยาง (สะพานยาว) เมืองพัทยา (EEC) วงเงิน 9.424 ล้านบาท

“พบว่า มีปัญหาไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่ “กรมเจ้าท่า” กำหนดว่า ต้องมีหลักฐานยินยอมจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งทั้ง 3 โครงการ ได้ผ่านการทำประชาคมแล้ว แต่ประชาชนไม่ยินยอมลงนามในหนังสือขออนุญาตก่อสร้าง”

สุดท้าย โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือหาดตาแหวน เกาะล้าน เมืองพัทยา คาดว่าจะเบิกงบประมาณไม่ทันภายในเดือนกันยายน 2566 จำนวน 16.632 ล้านบาท เนื่องจาก “ผู้รับจ้างเสียชีวิต” และได้ออกจากพื้นที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการติดตามฯ ได้เลื่อนการประชุมพิจารณางบฯ ในไตรมาส 3 ไปเป็นวันที่ 15 ส.ค.นี้.


กำลังโหลดความคิดเห็น