ปตท.สผ.มั่นใจแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซฯ ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามเงื่อนไขสัญญา PSC ในเดือน เม.ย. 67 คงเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมปีนี้ 4.7 แสนบาร์เรลต่อวัน อ้อนรัฐเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในภาคอีสาน ชี้มีศักยภาพผลิตก๊าซฯ
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ.สามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่ง G1/61 (เอราวัณ) ในระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ภายในเดือน เม.ย. 2567 อย่างแน่นอน โดยจะรักษาระดับการผลิตนี้ต่อเนื่องไปตลอด 10 ปี ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) จากปัจจุบันแหล่ง G1/61 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ทั้งนี้ บริษัทได้เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งอื่นในไทยเต็มที่โดยเฉพาะแหล่งอาทิตย์ เพื่อมาชดเชยกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่ง G1/61 โดยแหล่งอาทิตย์มีการผลิตก๊าซฯ ในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจากเดิมมีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ อยู่ที่ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนแหล่ง G2/61 (บงกช) มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ปีนี้อยู่ที่ 825 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งนับเป็นการผลิตที่สูงกว่าเงื่อนไขสัญญา PSC กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยปัจจุบันผลิตได้สูงถึง 860 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ในปี 2566 ปตท.สผ.ยังคงเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมอยู่ที่ 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยแหล่งอื่นๆ ในอ่าวไทยก็เร่งการผลิตเต็มที่แล้ว ที่เหลือก็ต้องไปเร่งจากโครงการต่างประเทศแทน เช่น โครงการ Oman Block 61 และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคช ที่มีอัตราผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 13,000 บาร์เรลต่อวัน และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพิ่ม กำลังการผลิตไปที่อัตราเฉลี่ย 17,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาส 4/2566 ทำให้บริษัทมีปริมาณการขายฯ รวมที่ 464,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
นอกจากนี้ ปตท.สผ.มองว่าพื้นที่ภาคอีสานมีศักยภาพที่จะผลิตก๊าซฯ ได้ จึงอยากให้รัฐเร่งออกประกาศยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.ได้ลงทุนในแหล่งสินภูฮ่อม เพื่อผลิตก๊าซฯ ปริมาณ 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ป้อนโรงไฟฟ้าน้ำพองของ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าราว 600 เมกะวัตต์ โดยแหล่งสินภูฮ่อมจะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2575 เบื้องต้นเชื่อว่าแปลงข้างเคียงแหล่งสินภูฮ่อมจะมีศักยภาพที่จะทำให้สามารถดำเนินการผลิตก๊าซฯ ป้อนโรงไฟฟ้าน้ำพองต่อได้ ซึ่งการเปิดประมูลฯ รอบใหม่ ก็คงต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาลชุดใหม่
นายมนตรีกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการลงทุนในต่างประเทศว่า โครงการ Oman Block 61 มีโอกาสขยายการผลิตเพิ่มจากระดับ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเพิ่มเป็น 1,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับภาครัฐ เพื่อขอเพิ่มกำลังการผลิตดังกล่าว
โครงการพีดีโอ (บล็อก 6) ที่ ปตท.สผ.เข้าไปซื้อหุ้นทั้งหมดในพาร์เท็กซ์ สัดส่วน 2% นั้น ซึ่งเป็นแปลงสัมปทานบนบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีศักยภาพปิโตรเลียมสูงสุดในประเทศโอมาน มีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยประมาณ 660,000 บาร์เรลต่อวัน ก็มีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 800,000 บาร์เรลต่อวันเช่นกัน
โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ขณะนี้ทางผู้ดำเนินโครงการ (Operator) ประเมินว่าจะสามารถกลับเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ได้ในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 2567 และยังคงเป้าหมายจะส่งมอบ LNG ลำแรกภายในปี 2570 ซึ่งปัจจุบันยังมีสัญญาซื้อขาย LNG อยู่ที่ 13 ล้านตัน โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ทางพันธมิตรคือ Eni ได้จัดเตรียมแผนเพื่อพัฒนาพื้นที่หลังจากเจาะหลุมสำรวจค้นพบปิโตรเลียมทั้งก๊าซฯ และน้ำมัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานรัฐ
นายมนตรีกล่าวว่า สำหรับการเติบโตในธุรกิจใหม่ (Diversify) ด้านธุรกิจเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ภายใต้การลงทุนของบริษัทลูก คือ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส (ARV) ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 5 ปีนั้น ได้ใช้เงินลงทุนเข้าขยายธุรกิจแล้วรวมประมาณ 250 ล้านบาท ปัจจุบันเริ่มมีรายได้เข้ามา แต่ผลประกอบการยังขาดทุนอยู่ แต่ในอนาคตมีแผนที่จะ Spin-Off เพื่อผลักดันให้ ARV ระดมทุนผ่านตลาดหุ้นในระดับอินเตอร์ อาทิ สิงคโปร์
ส่วนธุรกิจ Beyond E&P ปตท.สผ.ดำเนินการภายใต้ บริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด ปัจจุบันมีการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 9.98 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ 110 ไร่ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้ใช้ป้อนในโครงการเอส 1 ขณะนี้โครงการได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2566
รวมถึงล่าสุดที่ ปตท.สผ. และ 5 บริษัทพันธมิตรชั้นนำระดับโลกได้ชนะการประมูลสัมปทานการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ในแปลงสัมปทาน Z1-02 รัฐสุลต่านโอมาน อายุสัมปทาน 47 ปี ซึ่งบริษัทได้ลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้วซึ่งโครงการนี้จะครอบคลุมกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบครบวงจร ตั้งแต่พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม น่าจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5 กิกกะวัตต์โดยตั้งเป้าผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573 ที่อัตราประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี และผลิตแอมโมเนียเพื่อส่งออก คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 1.2 ล้านตันต่อปี โดยบริษัทจะเริ่มศึกษารายละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน