xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ลุย Local BCG Plus ปี 2 ดีเดย์ตามค้นหาผู้ประกอบการช้างเผือก ช่วยเสริมแกร่ง เพิ่มโอกาสขายใน-ต่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จบไปแล้วอย่างงดงามสำหรับโครงการ Local BCG Plus ปีแรก ที่กระทรวงพาณิชย์มุ่งขับเคลื่อนสินค้า 3 กลุ่มสำคัญ คือ สินค้า BCG ที่มุ่งรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องสิ่งแวดล้อม ดูแลสุขภาพ ออร์แกนิก สินค้ากลุ่มอัตลักษณ์ ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และสินค้ากลุ่มนวัตกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยผลิต โดยไม่เพียงแต่ปิดฉากตามค้นหาผู้ประกอบการช้างเผือกได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังช่วยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งการขายในประเทศ และส่งออกไปขายต่างประเทศ

การดำเนินการในปีแรก กระทรวงพาณิชย์ได้เริ่มต้นด้วยการมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่ทำการค้นหาผู้ประกอบการที่เข้าเงื่อนไข 3 กลุ่ม ซึ่งเบื้องต้นมีผู้ประกอบการสมัครเข้ามามากกว่า 600 ราย โดยได้คัดเหลือแต่ที่เป็นหัวกะทิจำนวน 200 รายใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก และภาคใต้ ก่อนที่จะเข้าไปช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดผ่านการจัดงานแสดงสินค้า Local BCG Plus Fair ใน 4 ภูมิภาค และจัดใหญ่อีก 1 ครั้งที่กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ สร้างยอดขายรวมได้ไม่ต่ำกว่า 650 ล้านบาท ทั้งการขายสินค้าภายในงานแสดงสินค้า การเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงาน และที่จะจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจขึ้นเป็นพิเศษในภายหลัง


ที่มาที่ไปของโครงการ

นางวรรณภรณ์ เกตุทัต ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ขับเคลื่อนโครงการ Local BCG Plus จากนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวสรุปผลการดำเนินโครงการในปีแรก ว่า โครงการนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนนโยบาย BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy และผู้บริโภคทั่วโลกต้องการสินค้า BCG กันมากขึ้น ทำให้กระทรวงพาณิชย์ผลักดันให้มีโครงการนี้เกิดขึ้น และเข้าไปตามหาผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า BCG

“เมื่อเราลงไปค้นหา ก็พบว่ามีผู้ประกอบการรายเล็กๆ ของไทยผลิตสินค้า BCG กันเยอะมาก ไม่ใช่แค่รายใหญ่ จึงมอบให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศไปรวบรวมรายชื่อ ก็หามาได้ประมาณหนึ่ง มีสินค้าที่น่าสนใจมากมาย จากนั้นก็คัดเลือกเอารายที่เข้าตามเงื่อนไขของโครงการ โดยเน้นรายที่มีความพร้อมก่อน เพื่อนำมาช่วยเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้มีโอกาสในการขายเพิ่มขึ้น ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ”

สำหรับสินค้าที่เราคัดเลือกมา นอกจากเป็นไปตามเงื่อนไขกลุ่มสินค้าที่เราตั้งเอาไว้แล้ว จะแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. เก่งแล้ว ทำตลาดได้ทั้งในประเทศและส่งออกแล้ว ก็จะช่วยหาตลาดใหม่ๆ ให้ จะเน้นสนับสนุนด้านการตลาด 2. เริ่มเก่ง มีสินค้าขายในตลาดชุมชน ขายในห้าง ในท็อปส์ หรือเลมอน ฟาร์ม เข้มแข็งระดับกลางๆ ก็จะเข้าไปเทรนนิ่ง ให้ข้อมูล ช่วยพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และมีโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้น และ 3. เป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่ม รายเล็ก รายจิ๋ว ก็จะเข้าไปเทรนนิ่ง โดยเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานในกระทรวงพาณิชย์ เช่น สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันการศึกษา ที่จะร่วมมือกันเข้าไปช่วย เพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เติบโตมากขึ้น


ปีแรกยอดขายทะลุเป้า 1,300 ล้านบาท

นางวรรณภรณ์กล่าวว่า เมื่อทำการคัดผู้ประกอบการเข้ามาแล้ว ก็ทำการคัดเลือกในแต่ละภูมิภาคให้เหลือภูมิภาคละ 50 ราย แล้วจัดงานแสดงสินค้า Local BCG Plus Fair 2023 นำผู้ประกอบการเหล่านี้ไปจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ปี 2566 จัดไปทั้งหมด 4 ครั้งในภูมิภาค ครั้งละ 50 คูหา และ 1 ครั้งที่กรุงเทพฯ Thailand Local BCG Plus Expo 2023 ซึ่งเป็นงานใหญ่รวมสินค้าจากทุกภาคมาจัด รวม 200 คูหา ปรากฏว่าการจัดงาน 5 ครั้ง ผลตอบรับดีมาก งานที่จัดในต่างจังหวัดขายได้ 380 ล้านบาท ที่กรุงเทพฯ 690 ล้านบาท รวมเป็น 1,070 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ 650 ล้านบาท เกินเป้ามาเยอะ

“ตอนนี้เหลือกิจกรรมสุดท้ายของโครงการ จะจัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ หรือ OBM เชิญผู้ซื้อ ผู้นำเข้าจากต่างประเทศมาเจรจาออนไลน์กับผู้ประกอบการของไทย วันที่ 23-25 ส.ค. 2566 มีผู้ประกอบการไทย 44 ราย ต่างชาติ 20 ราย 4 ประเทศ จีน ไต้หวัน ซาอุดีอาระเบีย และเกาหลีใต้ ตั้งเป้าไว้ว่างานนี้น่าจะขายได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท รวมทั้งโครงการปีแรกขายได้เกือบ 1,300 ล้านบาท เกินเป้าไป 2 เท่า” นางวรรณภรณ์กล่าว


เปิดสินค้าไฮไลต์ที่เห็นแล้วทึ่ง

สำหรับสินค้าไฮไลต์ในโครงการ Local BCG Plus ที่คนนิยม หรือเห็นแล้วต้องทึ่ง หรือแปลกใจว่าผู้ประกอบการไทยสามารถทำได้ เช่น ผงโกโก้ออร์แกนิก ผลไม้ที่เอามาทำเป็นเครื่องดื่ม อย่างน้ำมะเกี๋ยง น้ำช่อดอกมะพร้าว ปลานิล ผสมสาหร่าย ที่เอามาทำเป็นปลานิลหย็อง ทำเป็นสแน็ก ผักทำเป็นแครกเกอร์ แก้ปัญหาเด็กไม่กินผัก ถ้าพวกผ้า ก็มีผ้ามูลนมวัว ผ้าใยไม้ใบ้ ป่านศรนารายณ์ สินค้าแปรรูปจากยางพารา ที่ใช้เศษยางมาทำเป็นเบาะ ทำเป็นที่นอน รองเท้าทำจากเปลือกทุเรียน เป็นต้น

ส่วนสินค้าที่ขายดีในการนำไปจัดแสดงและจำหน่าย 10 รายการ ได้แก่ ผ้าทอยกดอกลำพูน ผ้าไหมมัดย้อมซ่อนมัดหมี่ เบาะรองนั่งยางพารา กระเป๋าจากต้นกล้วย ผ้าผันคอและมาลัยกร เสื้อจากผ้าเข็นมือแท้มัดหมี่ ชุดผ้าไหมยกดอกย้อมสีธรรมชาติ ผ้าย้อมมูลวัวนม น้ำมันอะโวคาโด และโลชั่นจากเปลือกกล้วยไข่


ปัญหาที่เจอและทางแก้

นางวรรณภรณ์กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่เจอ หลังจากที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ พบว่าปัญหาหลักคือ เรื่องเงินทุน ต้องเข้าไปช่วยเชื่อมโยง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเชื่อมโยงสถาบันการเงินให้เข้ามาช่วยเหลือแล้ว อีกอย่าง วิธีคิด ต้องพร้อมที่จะลุย บางรายเป็นป้าๆ แม่ๆ ไม่ยอมเปลี่ยนวิธีคิด ยังอยู่ในกรอบเดิมๆ มันไม่ได้ ต้องปรับ เพราะโลกทุกวันนี้มันไปทางนี้ ถ้าไม่ทำมันเดินต่อยาก แต่ถ้าพร้อม เราก็พร้อมจะช่วย อย่างคนที่ไม่รู้อะไรเลยเราก็มีเทรนนิ่งให้

ส่วนแนวโน้มทิศทางการตลาด ตรงนี้เราแก้ปัญหาได้แล้ว เรามีทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ทั่วโลก ที่พร้อมจะไปสำรวจตลาด ไปติดตามทิศทางการตลาด แนวโน้มตลาดว่าผู้บริโภคในประเทศสำคัญๆ มีความต้องการบริโภคสินค้าแบบไหน ให้ความสำคัญต่อการผลิตอะไรบ้าง เช่น สินค้าต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความรักษ์โลก หรือมีนวัตกรรม ก็จะมาบอกให้ผู้ประกอบการของไทย แล้วทำสินค้าให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ เมื่อมีความพร้อมแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะนำไปสู่ตลาด

ทั้งนี้ สินค้าที่ได้เข้าร่วมโครงการในปีแรก ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล รวมถึงการรวบรวม E-catalog สินค้าโดดเด่นจากจังหวัดต่างๆ ที่จะช่วยในการซื้อขาย รวมถึงการทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศต่อไปแล้ว และเมื่อโครงการเดินหน้าต่อในปีต่อๆ ไป ก็จะมีรายการสินค้าเพิ่มมากขึ้น และผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศก็สามารถที่จะเข้ามาดู มาเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น


ลุยโครงการปี 2 เริ่มตามหาช้างเผือก

นางวรรณภรณ์กล่าวว่า โครงการปีที่ 2 เราจะทำต่อ ขณะนี้กำลังได้เริ่มเตรียมๆ การไว้แล้ว มอบหมายให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศเริ่มมองหาผู้ประกอบการ ไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะต้องเท่าไร เรารับสมัครหมด แต่เมื่อเข้ามาแล้ว ก็ต้องมาผ่านกระบวนการคัดเลือกก่อน ต้องดูว่าเป็นสินค้าที่เข้าข่ายตาม 3 กลุ่มเป้าหมาย เป็น BCG มีอัตลักษณ์ และมีนวัตกรรมหรือไม่ เพราะบางสินค้าอาจจะไม่เหมาะกับโครงการ Local BCG Plus เช่น อาจจะเหมาะกับ OTOP เราก็จะช่วยประสานให้ไปทางนั้น หรือในด้านช่องทางการตลาด หากยังไม่ถึงขั้นที่จะเข้าร่วมงานแสดงสินค้า กระทรวงพาณิชย์ก็มีช่องทางให้ เช่น ผลักดันเข้าไปขายในตลาดชุมชน ตลาดต้องชม ที่มีการส่งเสริมและดำเนินการกันอยู่

จากนั้นเมื่อเข้ามาแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนการคัดเลือก ถ้าเก่ง ถ้าโดดเด่น ก็จะเข้าไปช่วยในเรื่องช่องทางการตลาด แต่ถ้ารายไหนต้องพัฒนา ก็จะช่วยพัฒนา ก็อย่างที่บอก เรามีหน่วยงานที่พร้อมช่วยทั้งในกระทรวงพาณิชย์เอง และร่วมกับหน่วยงานอื่น และภาคเอกชน จากนั้นก็จะมาจัด มาคัดว่าจะอยู่ในกลุ่มไหน แล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการช่วยทำตลาด ก็จะวนไปในเรื่องการนำไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดเจรจาจับคู่ธุรกิจ

แต่ที่พิเศษ จะมีกิจกรรมเพิ่มให้กับรายที่เข้มแข็งแล้ว มีแนวคิดที่จะนำไปเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่เป็นระดับนานาชาติ เช่น งานไทยเฟ็กซ์ อยากให้มีสินค้าอาหาร BCG ไปจัดแสดงด้วย เชื่อว่าจะเปิดตัวได้อีกมาก หรือจะเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการได้เห็นว่าโลกไปถึงไหนแล้ว จะได้นำมาปรับใช้กับการผลิตและพัฒนาสินค้าของตัวเอง หรือหากเป็นพวกสินค้า BCG พวกของใช้ ก็จะผลักดันให้ไปจัดในงาน Style เป็นต้น ตรงนี้จะเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าในโครงการ Local BCG Plus ได้เพิ่มมากขึ้น










กำลังโหลดความคิดเห็น