xs
xsm
sm
md
lg

ไฮสปีด "ไทย-จีน" คืบหน้า 23.95% "คมนาคม" เร่งงานอืดเข็น เซ็นช่วงอยุธยา ต.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไฮสปีด "ไทย-จีน" คืบหน้า 23.95% "คมนาคม" เร่งแก้ปัญหาจ่ายค่าเวนคืน ปมมรดกโลก สถานีอยุธยา เดินหน้าเซ็นรับเหมาไม่เกิน ต.ค.สร้างทางวิ่งก่อน ส่วนทับซ้อน ไฮสปีด 3 สนามบินยังไม่สรุป ยันแผนเปิดบริการปี 70

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง ลงพื้นที่บริเวณปากช่อง และรับฟังความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางรวม 250.77 กม.ว่า ปัจจุบันการก่อสร้างงานโยธาทั้งหมดจำนวน 14 สัญญา ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 10 สัญญา อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา และยังไม่ลงนาม 2 สัญญา

โดยการดำเนินการโครงการพบปัญหาอุปสรรค ดังนี้

1. การรังวัดที่ดิน สำหรับที่ดินที่ได้รับการเวนคืน มีความล่าช้าเนื่องจากมีเจ้าหน้าที่รังวัดไม่เพียงพอ

2. กรณีผลกระทบต่อแหล่งมรดกโลก สถานีอยุธยา ของสัญญางานโยธา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว รฟท.อยู่ระหว่างศึกษารายงาน HIA และคณะกรรมการ รฟท.ได้อนุมัติการจัดจ้างให้มีการก่อสร้างในส่วนของงานรางก่อน และจะก่อสร้างสถานี ขณะนี้ รฟท.นำส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา ก่อนลงนามในสัญญาต่อไป

3. การขอเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการจากระดับดิน มาเป็นยกระดับ ของสัญญา 3-4 และ 3-5 ทำให้โครงการเกิดความล่าช้า เนื่องจากต้องมีการออกแบบรายละเอียดใหม่ พร้อมทั้งต้องขอปรับปรุงรายงาน EIA

4. งานโยธาทับซ้อนระหว่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าเอกชน หรือ รฟท.จะเป็นผู้ก่อสร้าง ซึ่งหาก รฟท.เป็นผู้ก่อสร้างจะต้องก่อสร้างเพื่อรองรับความเร็ว 250 กม./ชม. หรือ 160 กม./ชม. ซึ่งหากก่อสร้างล่าช้าจะส่งผลต่อภาพรวมโครงการ


ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าของโครงการที่เกิดขึ้น ควรมีการดำเนินการดังนี้

1. กระทรวงคมนาคมจะประสานกรมที่ดินเป็นพิเศษ เพื่อเร่งรัดการรังวัดที่ดินที่ถูกเวนคืนที่ยังคงเหลือ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 30 ของมูลค่าการเวนคืนที่ดิน

2. กรณีงานโยธา สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ที่ยังรอการศึกษารายงาน HIA ของสถานีอยุธยา กระทรวงฯ จะผลักดันให้มีการก่อสร้างงานรางภายในเดือนตุลาคม 2566

3. การที่มีกรณีประชาชนขอเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงการจากทางระดับดิน เป็นทางยกระดับ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงแบบอาจจะส่งผลให้โครงการเกิดความล่าช้า จึงเห็นควรให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จัดทำเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อออกแบบประเภททางในลักษณะต่างๆ โดยนำองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง เช่น ความหนาแน่นของเมือง และระดับเมือง เป็นต้น มาพิจารณา เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการออกแบบ

4. งานโยธาทับซ้อน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ส่งผลกระทบต่องานโยธา สัญญา 4-1 ขร. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน นัดประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณาแนวทางการก่อสร้างโครงการช่วงดังกล่าว เพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า และมีความชัดเจนเกี่ยวกับความเร็วที่จะใช้ก่อสร้าง เพื่อให้สามารถส่งมอบงานให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินการของสัญญา 2.3 ต่อไป

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ ขร.ดำเนินการจัดทำ checklist การแก้ไขปัญหาทั้งหมดของโครงการ เพื่อเร่งช่วยเหลือการรถไฟแห่งประเทศไทยประสานการดำเนินการให้โครงการมีความคืบหน้า


@ไฮสปีด "ไทย-จีน" คืบหน้า 23.95% เร่งสร้างเป้าเฟสแรก เปิดปี 70

กรมการขนส่งทางรางแจ้งว่า ภาพรวมงานการก่อสร้างโครงการรถไฟไฮสปีด ไทย-จีน มีความคืบหน้า 23.95% โดยรฟท.เริ่มงานก่อสร้างเมื่อเดือน ธ.ค. 60 ยังคงตั้งเป้าหมาย และจะพยายามเร่งรัดงานก่อสร้าง เพื่อให้โครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน เฟสที่ 1 สามารถเปิดบริการได้ภายในปี 70

สำหรับสัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. งานก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% ส่วนสัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. คืบหน้า 98.67% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 66, สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.2 กม. คืบหน้า 31.53%, สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.1 กม. คืบหน้า 29.09%, สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.4 กม. คืบหน้า 61.23%, สัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.3 กม. คืบหน้า 4.63%

สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. คืบหน้า 0.20%, สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ ระยะทาง 23 กม. คืบหน้า 16.07%, สัญญาที่ 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย คืบหน้า 00.12% สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะทาง 31.6 กม. คืบหน้า 0.32% และสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.9 กม. คืบหน้า 42.96%


ส่วนความคืบหน้างานสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงินประมาณ 50,633 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทคู่สัญญาฝ่ายจีน ประกอบด้วย บริษัท ไซน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บริษัท ไชน่าเรลเวย์ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPO RATION ได้ดำเนินงานออกแบบตามสัญญาเบื้องต้นเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างฝ่ายไทยตรวจสอบ ปัจจุบันผู้รับจ้างอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาวัสดุ และอุปกรณ์งานระบบเพื่อนำมาติดตั้งต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น