xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ พอใจโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ มีความก้าวหน้าเป็นไปตามแผน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สระบุรี - นายกฯ ตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ อุโมงค์ที่ 1 สถานีรถไฟหินลับ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และอุโมงค์มวกเหล็ก-ลำตะคอง เผยพอใจความก้าวหน้าเป็นไปตามแผน

วันนี้ (17 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสระบุรี เพื่อไปตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงข่ายคมนาคมระบบราง งานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จช่วงมาบกะเบา-หินลับ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และตรวจเยี่ยมงานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ช่วงอุโมงค์มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ตามนโยบายรัฐบาลที่ได้วางแผนและเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผลักดันให้เกิดโครงการรถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง

เพื่อรองรับและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ยกระดับการเดินทางและศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อ ลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ลดระยะเวลาในการเดินทางได้อย่างชัดเจน และมีความปลอดภัย

โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และมีนายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่และผู้บริหารหน่วยงานในจังหวัดสระบุรี ให้การต้อนรับและร่วมตรวจเยี่ยมด้วย

สำหรับการตรวจเยี่ยมโครงข่ายคมนาคมระบบรางครั้งนี้ จุดแรก นายกรัฐมนตรีและคณะได้ตรวจติดตามความก้าวหน้างานอุโมงค์รถไฟผาเสด็จ (อุโมงค์ที่ 1) ช่วงมาบกะเบา-หินลับ ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 ซึ่งสัญญาที่ 3 เป็นงานอุโมงค์รถไฟ จำนวน 3 อุโมงค์ ได้แก่ อุโมงค์ที่ 1 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบา สถานีผาเสด็จ และสถานีหินลับ จ.สระบุรี มีความยาว 5.85 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 7.50 เมตร สูง 7.00 เมตร มีลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ รางเดี่ยว

ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย เป็นการออกแบบที่มีระบบความปลอดภัยค่อนข้างสูง โดยภายในอุโมงค์มีช่องอพยพผู้โดยสารทุกๆ ระยะ 500 เมตร ในกรณีที่เกิดเหตุสุดวิสัย ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 98.130 อุโมงค์ที่ 2 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีหินลับ และสถานีมวกเหล็กใหม่ จ.สระบุรี มีความยาว 650 เมตร กว้าง 11.00 เมตร สูง 7.30 เมตร มีลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยว รางคู่ โดยช่องอุโมงค์ที่มีขนาดใหญ่กว่าอุโมงค์อื่นๆ ทำให้มองเห็นปากอุโมงค์ทั้งสองฝั่งได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ และอุโมงค์ที่ 3 ตั้งอยู่บริเวณเขื่อนลำตะคอง ระหว่างสถานีคลองขนานจิตร อ.ปากช่อง และสถานีคลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีความยาวประมาณ 1.4 กิโลเมตร กว้าง 7.50 เมตร สูง 7.00 เมตร ลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ รางเดี่ยว ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยอุโมงค์ทั้ง 3 แห่งมีศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบ ซึ่งในอนาคตได้มีการวางแผนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีทิวทัศน์สวยงาม เนื่องจากโดยรอบเป็นภูเขาและป่าร่มรื่น

นายกรัฐมนตรีได้รับฟังรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ จากนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้ขึ้นขบวนรถไฟไปอุโมงค์ผาเสด็จ ระยะทาง 300 เมตร เพื่อเยี่ยมชมอุโมงค์ผาเสด็จ ก่อนขึ้นขบวนรถไฟกลับไปบริเวณพื้นที่โครงการ โดยนายกรัฐมนตรีขอบคุณกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ช่วยกันดำเนินงานโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ มีความก้าวหน้าเกิดผลสำเร็จเป็นไปแผนที่กำหนดไว้ และเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ได้วางแผนและเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ระบบราง

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการพัฒนาประเทศ ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่รัฐบาลได้วางแผนไว้ พร้อมย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบถึงประโยชน์ที่ประชาชนและประเทศจะได้รับจากโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ รวมถึงโครงการอื่นๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไว้สำหรับประชาชนและประเทศชาติ ในการพัฒนาไปสู่อนาคต ส่วนบางโครงการที่อยู่ในระหว่างการศึกษาขอให้ดำเนินการต่อให้เกิดผลสำเร็จตามแผนและเป้าหมายที่วางไว้ต่อไป

“รัฐบาลมั่นใจว่าหากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการเดินขบวนรถได้อย่างสะดวก และรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว โดยขบวนรถโดยสารจะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เฉลี่ย 100-120 กม./ชม. จากเดิม 50 กม./ชม. และขบวนรถสินค้าจะสามารถทำความเร็วสูงสุดได้เฉลี่ย 60 กม./ชม. จากเดิม 29 กม./ชม. ลดระยะเวลาการเดินทาง มีความตรงต่อเวลาของขบวนรถ เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ ลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ และประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มความปลอดภัยทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนกับผู้โดยสารรถไฟ ด้วยการแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนนให้เป็นทางต่างระดับทั้งหมด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าจะก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ และเปิดเดินรถในทางคู่ใหม่บางส่วนได้ภายในปี 2567 นี้

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะตรวจเยี่ยมงานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ช่วงอุโมงค์มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานโยธาสัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง โดยตัวอุโมงค์มวกเหล็กอยู่ระหว่างสถานีรถไฟผาเสด็จและสถานีรถไฟหินลับ มีลักษณะเป็นอุโมงค์เดี่ยว รางคู่ รูปทรงเกือกม้า ความยาว 3.465 กิโลเมตร สูง 8.50 เมตร กว้าง 11.50 เมตร ขณะนี้มีความคืบหน้างานก่อสร้างอยู่ที่ 1.43 กิโลเมตร คิดเป็น 41.3%

ซึ่งโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจีน โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟ ทำให้โครงข่ายรถไฟทางคู่ และโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความสมบูรณ์ ช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความปลอดภัยในการเดินรถ เพิ่มศักยภาพการเดินทาง การขนส่ง และโลจิสติกส์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองรับปริมาณความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

สำหรับความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีระยะทางรวม 250.77 กิโลเมตร ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ถึงสถานีปลายทางนครราชสีมา มีทั้งหมด 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และนครราชสีมา ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เร่งรัดติดตามการก่อสร้าง รวมถึงแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนงานที่วางไว้ภายในปี 2570










กำลังโหลดความคิดเห็น