สำนักงาน กขค.จับมือองค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าแห่งประเทศญี่ปุ่น (JFTC) จัดประชุมผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้า และประชุมกฎหมายและนโยบายการแข่งขันทางการค้าแห่งเอเชียตะวันออก มี 18 หน่วยงานจาก 18 ประเทศเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และแนวทางปฏิบัติในการจัดทำนโยบายการแข่งขันทางการค้า
นายไมตรี สุเทพากุล ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สำนักงาน กขค.) ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับองค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Fair Trade Commission: JFTC) จัดการประชุมผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายการแข่งขันทางการค้าแห่งเอเชียตะวันออก The 18th EAST ASIA TOP LEVEL OFFICIALS’ MEETING ON COMPETITION LAW AND POLICY (EATOP) และการประชุมกฎหมายและนโยบายการแข่งขันทางการค้าแห่งเอเชียตะวันออก (The 15th EAST ASIA CONFERENCE) ระหว่างวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมนิกโก้ กรุงเทพมหานคร
โดยในการเปิดประชุมกฎหมายและนโยบายการแข่งขันทางการค้าแห่งเอเชียตะวันออก มี Mr. Kazuyuki Furuya, ประธานองค์กรกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Fair Trade Commission: JFTC) และ Mr. Seungju Baek, รองคณบดีแห่งธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank Institute: ADBI) ร่วมกันเปิดงาน และมีผู้แทนเข้าร่วมงานจากหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าจำนวน 18 หน่วยงาน ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บรูไน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย เข้าร่วม
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย กรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดทำนโยบายการแข่งขันทางการค้าและการนำแนวนโยบายไปปฏิบัติระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้า รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเป้าหมายและมุมมองในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นโยบาย และการประชาสัมพันธ์กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เช่น การส่งเสริมการแข่งขันผ่านการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้า ความท้าทายและโอกาส ความสำคัญของนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าที่มีประสิทธิภาพ กับการเติบโตและความสำเร็จของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ สำนักงาน กขค.ตระหนักถึงความสำคัญในด้านการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรม เพื่อลดการผูกขาดทางการค้า ซึ่งในอนาคตอาจจะมี MOU ระหว่างหน่วยงานร่วมกัน เพื่อวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการแข่งขันทางการค้าให้มีมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป