ภาคเอกชนคาดหวังกระทรวงพลังงานจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ดูแลราคาดีเซลหลังคลังไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีฯ ดีเซลที่จะสิ้นสุด 20 ก.ค.นี้โดยให้ตรึงราคาต่อไป แต่ระยะยาวหากตลาดโลกพุ่งยังยอมรับตัวเลขที่ไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าไฟฟ้างวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 66) กกร.ยังยืนกรานตัวเลขที่ไม่ควรเกิน 4.25 บาทต่อหน่วย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัวส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยที่ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 8 และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ว่าปี 2566 ส่งออกจะโตเพียง 0% ถึง -2% ดังนั้นธุรกิจส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบ ดังนั้นจึงจำเป็นที่รัฐควรดูแลต้นทุนด้านพลังงานโดยเฉพาะราคาดีเซลและค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ในงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 66) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อประคองธุรกิจเหล่านี้ที่คาดว่าคำสั่งซื้อจะเริ่มดีขึ้นในช่วงปลายปีเพื่อรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
ทั้งนี้ ราคาดีเซลที่ปัจจุบันอยู่ระดับประมาณ 32 บาทต่อลิตร ซึ่งล่าสุดกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 5 บาทให้โดยจะสิ้นสุด 20 ก.ค.นี้ โดยให้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงบริหารซึ่งเห็นด้วยว่ารัฐจำเป็นจะต้องดูแลที่จะไม่ให้ราคาดีเซลปรับเพิ่มขึ้นแบบพรวดพราดทันทีเพราะจะยิ่งซ้ำเติมผู้ประกอบการโดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)
“กระทรวงพลังงานเท่าที่ทราบก็พร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ มาดูแลลดผลกระทบก็เห็นด้วยเพราะหากปล่อยให้ขึ้นพรวดเดียวตามภาษีฯ คือมาเป็นที่ 37 บาทต่อลิตรจะทำให้ต้นทุนพุ่งขึ้น 10% มีผลต่อราคาสินค้าได้ จึงอยากเห็นการดูแลอุดหนุนราคาดีเซลหากตรึงราคาได้ก็เป็นเรื่องที่ดี” นายเกรียงไกรกล่าว
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า กกร.กำลังส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีหลังประธาน 3 องค์กรได้ลงนามเรียบร้อยแล้วเพื่อที่จะเสนอแนวทางการปรับลดค่า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค. 66 โดยเสนอเพิ่มเติม 2 แนวทางคือให้ขยายระยะเวลาคืนหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จาก 5 งวดเป็น 6 งวดเพื่อลด Ft ได้อีก 10 สตางค์ต่อหน่วย และขอให้มีการบูรณาการในการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG โดยมอบหมายให้ผู้นำเข้าหลักเพียงรายเดียวเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม ซึ่งเมื่อรวมกับปัจจัยต่างๆ ในการคำนวณที่ลดลงจะทำให้ค่าไฟเฉลี่ยงวดนี้จะอยู่ที่ราว 4.25 บาทต่อหน่วย
“อัตราค่าไฟฟ้าของไทยยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง นักลงทุนต่างชาติชะลอการลงทุน รวมทั้งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน กกร.จึงได้เสนอแนวทางดังกล่าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้เหมาะสม” นายอิศเรศกล่าว
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนได้เสนอแนะไปแล้วว่าดีเซลไม่ควรจะเกิน 35 บาทต่อลิตรเพราะจะกระทบเศรษฐกิจรุนแรงและอดีตราคาตลาดโลกสูงมากรัฐจึงได้ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ ดูแลจะเกิดเป็นภาระหนี้จำนวนระดับแสนล้านบาท (รวมการดูแล LPG) รวมกับรัฐลดภาษีฯ ดีเซลให้ และปัจจุบันดีเซลตลาดโลกลดลงรัฐก็ปรับลดมาอยู่ระดับ 32 บาทต่อลิตรดังนั้นเมื่อไม่ลดภาษีฯ ดีเซล 5 บาทต่อลิตรจะมีผลต่อราคาที่ปรับขึ้น ดังนั้นเมื่อพิจารณาฐานะกองทุนน้ำมันฯ เชื่อว่าจะยังบริหารได้อยู่แต่คงต้องมองในเรื่องภาระหนี้ที่มีอยู่ด้วยรวมถึงแนวโน้มในสิ้นปีที่ดีเซลปกติจะมีราคาสูงขึ้น
"ขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ เริ่มมีฐานะสุทธิติดลบที่ดีขึ้นจากระดับแสนล้านบาทเหลือราว 5.2 หมื่นล้านบาทโดยเฉพาะในส่วนของบัญชีน้ำมันติดลบเหลือเพียง 6.5 พัน ล้านบาท แต่ต้องยอมรับว่าหนี้ของกองทุนฯ ที่มีสูงเป็นในส่วนของบัญชี LPG ที่มีกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่การเก็บเงินดีเซลเข้ากองทุนฯ ตอนนี้มีอยู่ราว 3 บาทเศษ ดังนั้นหากยังอยุู่ระดับนี้จนถึงวันที่หมดอายุสรรพสามิตหากไม่ตรึงราคาก็เท่ากับราคาดีเซลจะขึ้นไปสู่ระดับราว 2 บาทต่อลิตรแต่หากรัฐตรึงต่อก็ต้องใช้เงินกองทุนฯ อุดหนุนในระดับเดียวกัน รัฐคงจะต้องบริหารจัดการซึ่งส่วนตัวเห็นว่าหากจะปรับขึ้นควรจะไม่มากหรือตรึงได้ยิ่งดี" นายธนิตกล่าว