xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ฯ เสริมแกร่งค้าปลีกไทย ลุยปั้น “ร้านค้าต้นแบบ” 4 ภูมิภาค เป็นพี่เลี้ยงอัปเกรดโชวห่วยสู่สมาร์ทโชวห่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันประเทศไทยมีร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ร้านโชวห่วยจำนวนกว่า 4 แสนร้านค้า กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ลงลึกถึงอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.03 ล้านล้านบาท แต่ที่ผ่านมาต้องเผชิญกับการแข่งขันจากค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ ที่ลงมาเล่นในเวทีขนาดเล็กมากขึ้น ทำให้การแข่งขันยิ่งรุนแรงขึ้น แต่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในด้านการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ก็ไม่หยุดนิ่ง มีแผนที่จะเสริมแกร่งให้กับโชวห่วย ให้สามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และมีศักยภาพความพร้อมในการแข่งขัน

ที่ผ่านมากรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการจัดทำแผนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น แบ่งเป็น 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ ร้านค้าขนาดเล็ก หรือที่รู้จักกันในชื่อโชวห่วย และร้านค้าขนาดกลาง-ใหญ่ หรือร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นในระดับอำเภอ และจังหวัด โดยได้ดำเนินการผ่าน 2 โครงการสำคัญ คือ 1. โครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส” และโครงการ “พัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น สู่การเป็นร้านค้าต้นแบบ”

ทำไมต้องพัฒนาร้านโชวห่วย

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีร้านโชวห่วยที่เป็นรายเล็กรายน้อยอยู่ทั่วประเทศกว่า 4 แสนร้านค้า ซึ่งถือเป็นธุรกิจรายย่อยที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ร้านค้าลงลึกไปถึงระดับหมู่บ้าน ชุมชน มีส่วนช่วยในการขายสินค้าชุมชน สินค้าท้องถิ่น และมีต้นทุนการขายที่ต่ำกว่าสินค้าในร้านค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ เพราะไม่มีค่าบริหารจัดการ แต่ก็ต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น กรมฯ จึงต้องเข้ามาช่วยเหลือ และช่วยพัฒนาให้มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกที่รุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ การพัฒนาร้านโชวห่วยยังสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) ที่มีกรอบแนวคิดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ ผ่านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจฐานราก โดยมีเป้าหมายประการหนึ่ง คือ การสร้างสภาพแวดล้อมและกลไกที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของผู้คนและมีเครือข่ายกระจายสินค้าที่กว้างขวางเข้าถึงผู้บริโภคในชุมชน เป็นศูนย์กลางในการรับซื้อ-จำหน่ายสินค้าท้องถิ่น ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่ และยังเป็นช่องทางของรัฐบาลในการจัดสรรเงินงบประมาณผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยหันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และมุ่งเน้นความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ รวมทั้งเป็นจุดกำเนิดของธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ประกอบกับสถานการณ์การแข่งขันในตลาดธุรกิจค้าส่งค้าปลีกที่มีความรุนแรงมากขึ้น สังเกตได้จากห้างค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาด (Key Player) ที่มีทั้งองค์ความรู้ที่ทันสมัยและทรัพยากรในการบริหารจัดการอย่างครบวงจร ได้มีการปรับกลยุทธ์สร้างโมเดลธุรกิจในรูปแบบของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขยายตัวออกสู่ชุมชนเพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นจึงได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแข่งขันดังกล่าว ซึ่งหากไม่สามารถปรับตัวและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ก็อาจสูญเสียโอกาสทางการตลาดให้แก่คู่แข่งไปได้อย่างง่ายดาย


จัดทำโครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส

จากปัจจัยและเหตุผลที่ต้องเสริมแกร่งให้ร้านโชวห่วย จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส” ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการร้านค้าโชวห่วยในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ให้เป็น “สมาร์ทโชวห่วย”

นายทศพลอธิบายแนวทางการดำเนินการ ว่า กรมฯ จะบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรมฯ กับหน่วยงานพันธมิตร 6 กลุ่ม รวม 27 หน่วยงาน ที่ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ขับเคลื่อนโครงการ “สมาร์ทโชห่วย พลัส” เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2565 เพื่อมอบสิทธิประโยชน์และดำเนินกิจกรรมในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการโชวห่วย และร้านค้าสมาร์ทโชวห่วยนี้จะเป็นแหล่งรับซื้อสินค้าและกระจายรายได้กลับคืนสู่คนในชุมชน ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เติบโตต่อไป

“โครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส เป็นโครงการระยะยาว มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2565-2569) ครอบคลุมการดำเนินกิจกรรมหลัก 2 ส่วน คือ 1. การเสริมสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการ และ 2. การนำองค์ความรู้มาพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างสมาร์ทโชวห่วย และจะมีกิจกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการโชวห่วยที่ครอบคลุมหลายมิติ เพื่อผลักดันให้เป็นสมาร์ทโชวห่วย ซึ่งจะมีการปรับรูปแบบร้านค้าใน 3 ประการ คือ 1. การมีภาพลักษณ์ร้านค้าที่ดี 2. มีการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการร้านค้า และ 3. มีช่องทางออนไลน์สำหรับให้บริการลูกค้า”

สำหรับพันธมิตรสมาร์ทโชห่วย พลัส 6 กลุ่ม ที่ได้เข้ามาร่วมมือในการพัฒนาโชวห่วย ได้แก่ สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย, ผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่าย (Suppliers), ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี ระบบ POS แพลตฟอร์ม, ผู้ให้บริการเสริม, สถาบันการเงิน และกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club Thailand

ปั้นโชวห่วยที่เสริมแกร่งแล้วเป็นพี่เลี้ยง

ทั้งนี้ เมื่อมีการพัฒนาร้านโชวห่วยให้มีความเข้มแข็งแล้ว ก็จะส่งเสริมให้ร้านโชวห่วยเข้ามาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโชวห่วย นำความรู้ที่ได้ไปช่วยพัฒนาร้านค้าโชวห่วยในพื้นที่ให้เป็น “สมาร์ทโชวห่วย” ต่อไป ซึ่งในปี 2566 เป็นปีแรกที่กรมฯ ดำเนินการ ได้มีการพัฒนาโชวห่วยด้วย 2 กิจกรรมหลัก ได้แก่

1. การเสริมสร้างองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการพัฒนาในลำดับต่อไป โดยดำเนินการในรูปแบบของการจัดสัมมนาออนไซต์และออนไลน์ โดยสัมมนาออนไซต์กำหนดจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค ซึ่งภายในงานประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้ในประเด็นที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ เช่น บัญชี ภาษี การบริหารจัดการร้านค้า และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เป็นต้น และบูทกิจกรรมการตลาดจากเครือข่ายพันธมิตร เช่น บูทจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษ สินค้าชุมชน บริการระบบ POS บริการเสริมต่างๆ สถาบันการเงิน โดยในปี 2566 กรมฯ ได้ตั้งเป้าดำเนินการเสริมสร้างองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการรวม 3,000 ราย

2. การพัฒนาร้านค้าโชวห่วยให้เป็น “สมาร์ทโชวห่วย” โดยกรมฯ ให้การสนับสนุนร้านค้าต้นแบบที่มีความพร้อมในการทำหน้าที่ “พี่เลี้ยงโชวห่วย” ช่วยพัฒนาสมาร์ทโชวห่วยในพื้นที่ผ่าน 2 กิจกรรม คือ การปรับภาพลักษณ์ร้านค้า โดยทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดร้านค้าตามหลัก 5 ส (สวย สะอาด สว่าง สะดวก สบาย) และจัดเรียงสินค้าเป็นหมวดหมู่ ซึ่งจะช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าร้านและเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น โดยในปี 2566 ดำเนินการปรับภาพลักษณ์ จำนวน 200 ร้านค้า และการส่งเสริมใช้ระบบ POS โดยทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ ณ สถานประกอบการ เพื่อให้คำแนะนำวิธีการใช้ระบบ POS สำหรับการขายสินค้า การจัดการสต๊อกสินค้า และการดูรายงานยอดขายเบื้องต้น เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากวิถีการทำงานรูปแบบเดิมสู่การใช้ระบบเทคโนโลยีซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว โดยในปี 2566 ดำเนินการส่งเสริมใช้ระบบ POS จำนวน 100 ร้านค้า

พัฒนาอีกขั้นดันเป็นร้านค้าต้นแบบ

นายทศพลกล่าวว่า กรมฯ ไม่เพียงแค่พัฒนาร้านโชวห่วยให้เป็นร้านโชวห่วย พลัส แต่ยังจะช่วยพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นสู่การเป็นร้านค้าต้นแบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นขนาดกลาง-ใหญ่ ในพื้นที่ 4 ภูมิภาคให้เป็น “ร้านค้าต้นแบบ” ที่มีการบริหารจัดการที่ดีตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมฯ และจะผลักดันให้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยพัฒนาร้านค้าโชวห่วยที่อยู่ในพื้นที่ต่อไป

สำหรับแผนการพัฒนา กรมฯ จะขับเคลื่อนด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ 1. การเสริมสร้างองค์ความรู้และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นปูพื้นฐานก่อนเข้าสู่การพัฒนาเชิงลึกในลำดับต่อไป โดยจะมีการให้ความรู้ในด้านต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญ เช่น การวางแผนเชิงกลยุทธ์ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อการบริหารจัดการธุรกิจ การบริหารสินค้าคงคลัง โลจิสติกส์ และบัญชีการเงิน เป็นต้น และการศึกษาดูงานร้านค้าต้นแบบรุ่นพี่ ซึ่งผู้ประกอบการจะมีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นจากทั้ง 4 ภูมิภาค

2. การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 เป็นการวิเคราะห์ประเด็นการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการของกรมฯ ที่ประกอบด้วยการกำหนดทิศทาง และกลยุทธ์สู่ความยั่งยืน, ลูกค้า และการตลาด, สารสนเทศ เทคโนโลยี และนวัตกรรม, บุคลากร, การจัดซื้อและบริหารจัดการโลจิสติกส์, การบริหารการขาย, บัญชีและการเงิน และจัดทำแผนการพัฒนา (Action Plan) เฉพาะราย โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกพัฒนาในประเด็นที่ต้องการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน หรือประเด็นที่ต้องการต่อยอดเสริมจุดแข็ง ครั้งที่ 2 ให้คำปรึกษา แนะนำแนวทางการพัฒนาตาม Action Plan และครั้งที่ 3 เป็นการติดตามและประเมินผลการพัฒนาของผู้ประกอบการ

ในปี 2566 กรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาร้านค้าต้นแบบ จำนวน 32 ราย ซึ่งกิจกรรมนี้ นอกจากจะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการได้ตรงตามความต้องการเฉพาะราย และสามารถนำเกณฑ์ตามมาตรฐานของกรมฯ ไปใช้พัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้นแล้ว ผู้ประกอบการยังได้รับโอกาสในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากพันธมิตรของกรมฯ โดยเฉพาะในด้านแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินชั้นนำ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และธนาคารไทยพาณิชย์อีกด้วย

“โครงการสมาร์ทโชห่วย พลัส และโครงการพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น สู่การเป็นร้านค้าต้นแบบ เป็นโครงการที่มีความเชื่อมโยงกัน โดยร้านค้าต้นแบบที่มีความพร้อม จะเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยพัฒนาร้านค้าโชวห่วยที่อยู่ในพื้นที่ให้เป็นสมาร์ทโชวห่วยที่เข้มแข็ง สร้างเครือข่ายทางธุรกิจที่เกื้อหนุนกัน และกรมฯ มุ่งหวังว่าร้านโชวห่วยของไทยจะเก่งขึ้น พัฒนาขึ้น และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งเพิ่มขึ้นต่อไป” นายทศพลกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น