xs
xsm
sm
md
lg

ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตคนวัยทำงาน ส่งธุรกิจกายภาพบำบัดเติบโต แบรนด์กีฬาหันเปิดคลินิกกายภาพบำบัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ‘โรคออฟฟิศซินโดรม’ ส่งผลให้ ‘คนวัยทำงาน’ ใช้บริการ ‘ธุรกิจกายภาพบำบัด’ เพิ่มขึ้น ขณะที่บางแบรนด์กีฬายกระดับความฮอตธุรกิจ ตั้งคลินิกกายภาพบำบัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา รับเทรนด์ธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมต่อยอดสร้างรายได้เพิ่ม ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 มีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนในธุรกิจกายภาพบำบัดถึง 22 ราย เงินลงทุนรวม 31.40 ล้านบาท ย้ำ!! ธุรกิจยังมีที่ว่างให้นักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งการตลาดอีกมาก


นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรช่วงอายุ 25 - 54 ปี หรือ กลุ่มวัยทำงาน จำนวนเกือบ 30 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 45 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ด้วยอัตราการเกิดและการตายที่ลดลง รวมถึง อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีช่วงเวลาการทำงานที่ยาวนานมากขึ้น ประชากรกลุ่มนี้จึงเริ่มตระหนักถึงการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานประจำ หรือที่เรียกว่า ทำงานออฟฟิศ ที่มีพฤติกรรมการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและไม่ได้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้เกิดอาการ ‘ออฟฟิศซินโดรม : Office Syndrome’ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

คลินิกกายภาพบำบัด เป็นทางเลือกใหม่ของคนวัยทำงานที่เกิดอาการออฟฟิศซินโดรม รวมถึง ผู้ที่มีอาการบาดเจ็บทางกล้ามเนื้อและกระดูกที่อาจเกิดจากการเล่นกีฬา หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่างๆ เนื่องจากสามารถเข้าถึงบริการและนวัตกรรมเครื่องมือในการรักษาที่ตอบโจทย์ตามมาตรฐานสากลและสะดวกสบาย โดยคลินิกกายภาพบำบัดให้บริการรักษาหลากหลายวิธี เช่น การใช้ความร้อนแสง เสียง ไฟฟ้า การดัด การดึง การนวด การบริหารร่างกาย การใช้เครื่องมือทางกายภาพชนิดต่างๆ เพื่อฟื้นฟู ป้องกัน ปรับปรุง แก้ไขสมรรถภาพของร่างกายที่เสื่อมสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ ส่งผลให้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม และเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองในยุคปัจจุบัน


จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า ปี 2563 จดทะเบียนจัดตั้ง 12 ราย ทุนจดทะเบียน 158 ล้านบาท ปี 2564 จัดตั้ง 17 ราย (เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือ ร้อยละ 41.7) ทุน 31.4 ล้านบาท (ลดลง 126.60 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 80.1) ปี 2565 จัดตั้ง 37 ราย (เพิ่มขึ้น 20 ราย หรือ ร้อยละ 117.7) ทุน 101.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 69.95 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 222.8) และ ปี 2566 เดือนมกราคม - พฤษภาคม จัดตั้ง 22 ราย ทุน 31.40 ล้านบาท (ม.ค.-พ.ค.65 จัดตั้ง 17 ราย ทุน 36.55 ล้านบาท)

ผลประกอบการธุรกิจ โดยรายได้รวมของธุรกิจ ปี 2562 อยู่ที่ 267.73 ล้านบาท ขาดทุน 18.79 ล้านบาท ปี 2563 รายได้รวม 246.94 ล้านบาท (ลดลง 20.69 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 7.7) ขาดทุน 15.29 ล้านบาท (ลดลง 3.50 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 18.6) และ ปี 2564 รายได้รวม 417.35 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 170.41 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 69.0) กำไร 37.23 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 21.94 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 143.5) ทั้งนี้ ภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจกายภาพบำบัด ปี 2562 - 2564 รายได้มีความผันผวนเนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยธุรกิจกายภาพบำบัดเป็นธุรกิจบริการที่มีการสัมผัสกัน จึงเป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ ภายหลังที่การระบาดของโรคโควิด-19คลี่คลายลง ธุรกิจบริการโดยเฉพาะสุขภาพจึงสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบ ขยายธุรกิจ/การบริการที่ครอบคลุมตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ และมีการเพิ่มสาขาโดยเฉพาะในตัวเมืองที่ประชากรอยู่หนาแน่น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และกระแสการตื่นตัวรักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ ส่งผลให้ภาพรวมผลประกอบการกลับมามีทิศทางที่ดีขึ้น


การลงทุนในธุรกิจส่วนใหญ่เป็นคนไทย มูลค่าการลงทุน 1,632.31 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98.0 ของการลงทุนในธุรกิจทั้งหมด ขณะที่การลงทุนจากต่างชาติสูงสุด คือ จีน มูลค่า 14.85 ล้านบาท (ร้อยละ 0.89) รองลงมา คือ อเมริกัน มูลค่า 5.41 ล้านบาท (ร้อยละ 0.32) ญี่ปุ่น มูลค่า 5.24 ล้านบาท (ร้อยละ 0.31) และอื่นๆ มูลค่า 7.74 ล้านบาท (ร้อยละ 0.48)

ปัจจุบัน ธุรกิจกายภาพบำบัดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 มีจำนวน 175 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.01 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 1,665.55 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.007 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด จำนวน 163 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.14 มูลค่าทุน 1,645.85 ล้านบาท และเป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) มากที่สุด จำนวน 174 ราย คิดเป็นร้อยละ 99.43 สถานประกอบการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 91 ราย (ร้อยละ 52.00) ทุนจดทะเบียนรวม 1,284.31 ล้านบาท (ร้อยละ 77.11) รองลงมา คือ ภาคกลาง 33 ราย (ร้อยละ 18.86) ภาคเหนือ 15 ราย (ร้อยละ 8.57) ภาคใต้ 13 ราย (ร้อยละ 7.43) ภาคตะวันออก 11 ราย (ร้อยละ 6.29) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 ราย (ร้อยละ 4.57) และภาคตะวันตก 4 ราย (ร้อยละ 2.28)

และด้วยกระแสความนิยมของธุรกิจกายภาพบำบัดที่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งการเข้าใช้บริการของผู้บริโภคและการเข้ามาลงทุนในธุรกิจของนักลงทุน ประกอบกับธุรกิจมีการปรับตัวที่น่าสนใจจนสามารถตอบโจทย์ความต้องการและเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ส่งผลให้ธุรกิจมีการขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการจากสำรวจนักลงทุนที่เข้ามาในตลาดธุรกิจกายภาพบำบัด พบว่า มีแบรนด์กีฬาที่มองเห็นถึงโอกาสในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจด้านสุขภาพ ได้เข้ามาลงทุนจัดตั้งคลินิกกายภาพบำบัด และศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาขนาดใหญ่ในประเทศไทย เป็นการเสริมธุรกิจด้านกีฬาที่ดำเนินกิจการอยู่ ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร รวมทั้ง สามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้สินค้าและบริการเพื่อขยาย/ต่อยอดสินค้าและบริการ สร้างรายได้แก่ธุรกิจอย่างยั่งยืน

ในอนาคตคาดว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในธุรกิจมากขึ้น ทั้งจากความนิยม แนวโน้มธุรกิจ (เทรนด์) และความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนาการให้บริการที่ดีมากกว่าเดิม ตลอดจนมีการนำเข้าเครื่องมือที่ทันสมัยมาให้บริการเพื่อดึงดูดและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค ทั้งนี้ ธุรกิจกายภาพบำบัดยังคงมีที่ว่างสำหรับนักลงทุนชาวไทย/ต่างชาติในการเข้ามาร่วมแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาด โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมและความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการเป็นหลัก ซึ่งผลที่ได้รับ คือ ผลประกอบการที่เป็นบวกและมีผลกำไรธุรกิจอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ส่วนประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4376 สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th


กำลังโหลดความคิดเห็น