xs
xsm
sm
md
lg

“โอซีซี” เมกอัพตัวเอง แต่งหน้าทาปากใหม่ สวยไม่แก่แต่วัยรุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - เปิดกลยุทธ์ โอซีซี ในเครือสหพัฒน์ ต้องรีเฟรชแบรนด์ ปรับเกมรบ ปรับทิศทางการรุกครั้งใหญ่ ต้องไม่ตกเทรนด์ และรับมือกับสถานการณ์ตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไม่แพ้การแข่งขันที่รุนแรงและเทคโนโลยีที่เข้ามากระทบในสนามเครื่องสำอางและแฟชั่น


ในแวดวงธุรกิจความงามในไทยไม่มีใครที่ไม่รู้จักชื่อ บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) หรือโอซีซี กรุ๊ป ในเครือสหพัฒนพิบูล ที่คลุกคลีกับวงการความงามในเมืองไทยมานานกว่าครึ่งศตวรรษหรือกว่า 50 ปีมาแล้ว

หากมองในแง่ของแบรนด์สินค้าแล้ว ต้องยอมรับว่าโอซีซีบริหารจัดการดูแลรับผิดชอบแบรนด์ต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์หลักอย่าง COVERMARK, KMA, PAUL & JOE, SUNGRACE ยังรวมถึงแบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ ได้แก่ GUY LAROCHE LINGERIE & SWIMWEAR, GUNZE, G&G, SMILEYHOUND INNERWEAR และแบรนด์ผลิตภัณฑ์แฮร์แคร์และแฮร์คัลเลอร์ ได้แก่ DEMI HAIR CARE SCIENCE, BSC HAIR CARE, Wella Professionals, b-ex thailand, PAON SEVEN-EIGHT รวมถึงแบรนด์อื่นๆ เช่น ร้านตัดผมด่วน Easy Cut, At First Café และหน้ากากอนามัย IRIS OHYAMA

นอกจากนั้นก็มีแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น แบรนด์ เวลล่า ที่ได้รับสิทธิ์ทำตลาดเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ล่าสุดปี 2566 นี้ได้แบรนด์ใหม่ คือ DEMI เข้ามาเสริมทัพอีกด้วย กล่าวได้ว่าหลายแบรนด์ล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำวงการ หรือไม่ก็เป็นที่ยอมรับในกลุ่มผู้บริโภค ผู้ใช้สินค้าอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดรวมความงามในไทยจะมีการเติบโตที่ดี แต่อาจจะซบเซาลงไปบ้างในช่วงโควิด-19 ระบาดที่ผ่านมาเฉกเช่นหลายธุรกิจ แต่ตลาดรวมความงามในเมืองไทยก็ถือเป็นตลาดหนึ่งที่มีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงไม่แพ้กับธุรกิจอื่น เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากหลายราย และแต่ละรายก็มีการถือสิทธิ์ทำตลาดแบรนด์หลักๆ ไม่แพ้กัน


ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า มูลค่ารวมของตลาดความงามในประเทศไทยปี 2565 มีมูลค่าประมาณ 1.49 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่มีสัดส่วนมากที่สุดคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ประมาณ 60% ของตลาดรวม รองลงมาคือกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผม ประมาณ 20% กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ประมาณ14% และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอม สัดส่วนน้อยที่สุด 6%

แน่นอนว่าทุกแบรนด์ ทุกราย ย่อมต้องพยายามช่วงชิงตลาดมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนี้ ผลประกอบการของบริษัท ตั้งแต่ปี 2563 มีรายได้รวมประมาณ 862 ล้านบาท (แบ่งเป็นเครื่องสำอาง 791 ล้านบาท หรือ 91.71%, เสื้อผ้า 65 ล้านบาท หรือ 7.63%, อื่นๆ 5 ล้านกว่าบาท หรือ 0.66%) เป็นรายได้จากในประเทศ 100%

ปี 2564 มีรายได้รวม 718 ล้านบาท (แบ่งเป็นเครื่องสำอาง 649 ล้านบาท หรือ 90.40%, เสื้อผ้า 55 ล้านบาท หรือ 7.70%, อื่นๆ 13 ล้านบาท หรือ 1.86%) เป็นรายได้จากในประเทศ 100% ปี 2565 มีรายได้รวม 860 ล้านบาท (แบ่งเป็นเครื่องสำอาง 751 ล้านบาท หรือ 87.41%, เสื้อผ้า 98 ล้านบาท หรือ 11.43%, อื่นๆ 9 ล้านกว่าบาท หรือ 1.16%) เป็นรายได้จากในประเทศ 100% ส่วนปี 2562 มีรายได้รวม 1,127 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกปี 2566 นี้ โอซีซี สามารถทำรายได้รวมไว้ที่ 232 ล้านบาท

โอซีซีเองในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำตลาดรวมความงามในไทย ก้าวมาถึงวันนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวครั้งยิ่งใหญ่อย่างมีนัยสำคัญเลยทีเดียวก็เพื่อรองรับกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น และที่สำคัญเพื่อรองรับกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป


นางสาวธีรดา อำพันวงษ์ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โอซีซี กรุ๊ป ได้ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน รวมถึงสถานการณ์การตลาดในปัจจุบันที่มีการแข่งขันที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางและแฟชั่น ซึ่งได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย เช่น เทรนด์ของผู้บริโภค สภาพเศรษฐกิจโลก ผู้ประกอบการรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้น ความก้าวล้ำของเทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ

“ดังนั้น เราจึงไม่หยุดที่จะพัฒนาองค์กร เพื่อให้ก้าวสู่สนามการแข่งขันธุรกิจในยุค Digital Business Transformation อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ตลอดจนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและการบริการ รวมถึงสร้าง Lovemarks ให้แบรนด์ต่างๆ ในเครือของเรา”


การปรับเปลี่ยนใหม่นี้เริ่มกันในทุกภาคส่วนขององค์กรเลยทีเดียว
ในแง่ของบริษัทให้ความสำคัญต่อการปรับภาพลักษณ์องค์กร โดยเฉพาะ Corporate Identity อย่างโลโก้ของ โอซีซี ที่มีการดีไซน์ใหม่ ภายใต้แนวคิด Connect The Dot ที่สื่อความหมายถึงการเดินทางของจุด 1 จุด ที่มีการเชื่อมต่อและแปลงจุดเป็นตัวอักษร OCC ซึ่งสะท้อนถึงการเชื่อมโยงระหว่างองค์กร คู่ค้า พนักงาน ช่องทางการจัดจำหน่าย และพันธมิตรทางธุรกิจเข้าไว้ด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ และขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยศักยภาพอันไร้ขีดจำกัด ทั้งยังมีการเลือกใช้สีของโลโก้ อย่างสี Orchid Purple เป็นสีหลักที่ให้ความรู้สึกมีชีวิตชีวาและมีพลัง ผนวกกับสี Lapis Blue และ Passion Red ที่สื่อถึงความเป็นธุรกิจด้านความงามและแฟชั่น

โอซีซีตั้งความหวังไว้อย่างมากว่า โลโก้ใหม่นี้จะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้องค์กรดูทันสมัย และดึงดูดผู้บริโภครุ่นใหม่มากขึ้น เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้คือหนึ่งในทิศทางที่โอซีซีจะต้องก้าวไปด้วย


โดยวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนองค์กร 3 แนวทางหลักๆ คือ 1. มุ่งพัฒนาแบรนด์สินค้าในเครือ ให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้บริโภคในทุกมิติ

2. สรรหาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงและมีนวัตกรรมที่ล้ำสมัย เพื่อช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถสู้กับคู่แข่งในตลาดได้อย่างมีศักยภาพ

3. เชื่อมโยงทุกช่องทางการขายแบบ Omni - Channel อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการผสมผสานระหว่างช่องทางออนไลน์ เช่น Shopee, Lazada, LINE, Facebook, Instagram, TikTok ฯลฯ และช่องทางออฟไลน์ ซึ่งมีจุดขายหน้าร้านมากกว่า 1,800 จุดทั่วประเทศ​

“รวมถึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนกลุ่มใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาร่วมธุรกิจกับเรา เพราะมีความพร้อมในการเป็น Strategic Partner ที่ไม่ใช่แค่บริษัทจัดจำหน่าย แต่เราคือ พันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่มากประสบการณ์ และได้รับความไว้วางใจจากคู่ค้าตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี” บอสของโอซีซีกล่าว 


แต่จากการที่โอซีซีมีแบรนด์ที่ดูแลมากเป็นพิเศษนั้น การปรับเปลี่ยนทั้งหมดพร้อมกันนั้นเป็นเรื่องใหญ่ จึงจำเป็นต้องทยอยทำไป โดยเลือกบางแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอท้ังหมดมาทำก่อนไม่กี่แบรนด์ โดยหลักๆ ก็จะดึงเอาแบรนด์ที่เป็นแบรนด์มีอายุนาน ภาพลักษณ์อาจจะไม่ค่อยทันสมัยแล้วในยุคนี้

โดยสองแบรนด์แรกที่ถูกนำมาปรับลุค (Look) ครั้งใหญ่ คือ KMA กับกีลาโรช (GUY LAROCHE)

นางสาวธีรดากล่าวว่า “ในปี 2566 นี้โอซีซี ได้มีการปรับภาพลักษณ์ให้แบรนด์ KMA ซึ่งเป็นแบรนด์เครื่องสำอางที่มีมายาวนานกว่า 30 ปี ให้มีความทันสมัย สอดรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเจนใหม่มากยิ่งขึ้น รวมถึงมุ่งทำการตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกแพลตฟอร์ม อีกทั้งยังเตรียมเปิดตัว Presenter คนใหม่ โบว์กี้ ไลอ้อน นักร้องสาวสวยเสียงดี มีคาแรกเตอร์โดดเด่น และเป็นตัวแทนของกลุ่ม Gen C และ Gen Z ในเร็วๆ นี้

โดย KMA โฉมใหม่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ KEEP ME ASPIRING ซึ่งให้ความสำคัญต่อ Genderless Trend เพราะเราเชื่อว่าทุกคนสามารถอวดความงามจากตัวตนที่แท้จริงของตัวเองได้อย่างมั่นใจ พร้อมตอกย้ำความเชี่ยวชาญเรื่องเมกอัพงานผิว


“ในส่วนของการทำการตลาดแบรนด์แฟชั่นในเครือ โอซีซี ในปีนี้เราได้รังสรรค์ชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำแบรนด์ GUY LAROCHE คอลเลกชันใหม่หลากหลายสไตล์ ด้วยวัสดุคุณภาพสูง การตัดเย็บที่ประณีตทุกขั้นตอน และดีไซน์ที่หรูหรา สง่างาม และทันสมัย ตอบโจทย์ความต้องการของผู้หญิงไทยทุกกลุ่ม เพราะเราเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนมีคาแรกเตอร์ที่แตกต่าง และมีเสน่ห์ในแบบฉบับของตัวเอง”

นอกจากการปรับหรือรีเฟรชแบรนด์เดิมแล้ว ก็ยังขยายแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มในพอร์ตอีกเช่นกัน เพื่อมาเสริมธุรกิจของ โอซีซี ให้เติบโต

ล่าสุดได้รับความไว้วางใจจาก NICCA CHEMICAL CO.,LTD ประเทศญี่ปุ่น ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อเส้นผมระดับพรีเมียม DEMI HAIR CARE SCIENCE ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งแบรนด์ DEMI HAIR CARE SCIENCE มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องของนวัตกรรม และการสร้างสรรค์ที่สะท้อนเทรนด์แฟชั่นผมที่ล้ำสมัย ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ DEMI HAIR CARE SCIENCE กว่า 600 รายการถูกคิดค้นและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีความงามทางกระบวนการวิทยาศาสตร์ เพื่อสกัดสารต่างๆ จากธรรมชาติ อาทิ สารสกัด EMP (Egg Membrane Protein) โปรตีนจากเยื่อไข่ ที่มีคุณสมบัติคล้ายกับสภาพเส้นผมโดยธรรมชาติ ลิขสิทธิ์เฉพาะ Demi Cosmetics มีประสิทธิภาพในการดูแล ฟื้นฟู และปกป้องเส้นผมให้คงไว้ซึ่งความแข็งแรง เพื่อผลลัพธ์ผมที่สวยจากโครงสร้างภายในอย่างแท้จริง

นี่เป็นเพียงสองแบรนด์แรกที่นำมารีเฟรชปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ดูทันสมัย และเป็นเพียงก้าวแรกในการปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ของโอซีซี

จากนี้คงต้องจับตามองต่อไปว่า การเดินเกมครั้งใหม่ของโอซีซีจะเป็นอย่างไร








กำลังโหลดความคิดเห็น