การตลาด - กดปุ่ม Play ในยุคเพลงไร้พรมแดน “อาร์เอส มิวสิค” หวนจับไมค์ครั้งนี้ขอแจ้งเกิดบนโลกออนไลน์ เป็นสะพานเชื่อมศิลปินสู่เวทีระดับโลก วางใจให้ UMG เข้าร่วมบริหารลิขสิทธิ์เพลงกว่า 13,000 เพลง บนโลกออนไลน์ในทุกแพลตฟอร์มและดูแลตลาดต่างประเทศ ส่วนในไทยขอลุยเอง ภายใต้การคุมบังเหียนจากกุนซือที่ชื่อ “พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล” ผู้ร่วมฝ่าฟันให้อาร์เอสก้าวพ้นวิกฤติวงการเพลงไทย ลั่นใน 3 ปี “อาร์เอส มิวสิค” โกยรายได้สู่ 1,200 ล้านบาท สร้างความแข็งแกร่ง ปูทางสู่ตลาดหลักทรัพย์ในก้าวต่อไป
“การหวนกลับมาทำเพลงเชิงรุกอย่างจริงจังในครั้งนี้ ไม่ได้มองว่าจะต้องกลับมายิ่งใหญ่ หรือต้องเป็นเบอร์ 1 อย่างที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันคนฟังเพลงบนออนไลน์ และบนออนไลน์ไม่มีใครเป็นเบอร์ 1 อย่างแท้จริง ทิศทางการทำธุรกิจเพลงครั้งนี้จึงไม่จำเป็นต้องใหญ่ ไม่เน้นแข่งขัน เน้นมองหาเพื่อน พันธมิตร ด้วยโมเดลธุรกิจที่ยึดหลักที่ว่า ต้องคล่องตัว ยืดหยุ่น เปิดกว้าง และไร้กรอบ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ รายได้ เป็นสำคัญ จึงพร้อมทำงานร่วมกับศิลปินนอกสังกัดและทุกค่ายเพลง” เฮียฮ้อ บอกเล่าแนวคิดและเผย “ท่อนฮุก” ของการกดปุ่ม Play ให้กับ “อาร์เอส มิวสิค” ได้เล่นเพลงเพราะให้ได้ฟังกันอีกครั้ง
แม้ปัจจุบัน อาร์เอส จะปรับตัวจากธุรกิจบันเทิงสู่ธุรกิจคอมเมิร์ซ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยทิ้งเพลง ยังคงทำอยู่เรื่อยๆ ผลิตผลงานเพบงและศิลปินนักร้องออกมาเป็นระยะๆ บ่มเพาะเพื่อรอเวลาหวนคืนเวทีอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้ง และจากกระแสเรียกร้องในเวลานี้จึงมองว่าเป็นช่วงเวลาที่ใช่ ที่จะกลับมาลุยธุรกิจครั้งใหม่ ด้วยการตั้งบริษัท อาร์เอส มิวสิค จำกัด ขึ้นมา พร้อมทรานส์ฟอร์มผ่านโมเดลธุรกิจที่ไร้กรอบและแตกต่าง ผสานกับกลยุทธ์เชิงรุกที่หลากหลาย เพื่อรองรับ ไลฟ์สไตล์การฟังเพลงของคนในยุคปัจจุบัน และบริการมิวสิค สตรีมมิงที่เติบโตขึ้น โดยยังคงตั้งเป้าผลิตเพลงใหม่กับศิลปินเดิมที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว และพัฒนาศิลปินใหม่ และร่วมมือกับศิลปินภายนอก และมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อก้าวสู่เวทีระดับนานาชาติ และเตรียมความพร้อมในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต
เฮียฮ้อ หรือ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเพลงในปัจจุบันแตกต่างจากในอดีตมาก เพราะเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีช่องทางออนไลน์ ซึ่งแพลตฟอร์ม มิวสิค สตรีมมิง จะช่วยให้ธุรกิจเพลงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วผ่านการฟังเพลงที่สามารถทำได้จากทั่วทุกมุมโลก และสามารถคาดการณ์รายได้ระยะยาวได้แม่นยำมากขึ้น ทำให้วันนี้ อาร์เอส มิวสิค ทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ ด้วยเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมเพลงมีโอกาสการสร้างรายได้ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากช่องทางดิจิทัลที่เติบโตตามพฤติกรรมผู้บริโภค
จากข้อมูลของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (IFPI) ที่พบว่า ในปี 2565 รายได้จากมิวสิค สตรีมมิงทั่วโลกมีมากถึง 67% และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีกว่า 5% ในขณะที่ประเทศไทย ผู้ฟังใช้เวลาฟังเพลงผ่านระบบสตรีมมิงมีระยะเวลานานถึงวันละ 1.8 ชั่วโมง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่เรากลับมาลุยธุรกิจเพลงอีกครั้งภายใต้จังหวะเวลาที่ใช่ และมีโมเดลธุรกิจใหม่รองรับ รวมถึงการได้พาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสและเติมเต็มศักยภาพของ อาร์เอส มิวสิค แบบก้าวกระโดด
“แผนธุรกิจของอาร์เอส มิวสิค ที่จะนำมาขับเคลื่อนในครั้งนี้ มีอยู่ 2 ข้อ คือ 1.ปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงใหม่ เปิดกว้างร่วมงานกับพันธมิตรทุกรูปแบบ พร้อมจับมือกับทุกศิลปินและทุกค่ายทั้งในและต่างประเทศ 2.วางแผนกลยุทธ์ กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน สู่การเติบโตในอนาคต กับปลายทางคือเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ”
โดยโครงสร้างของอาร์เอส มิวสิค ในวันนี้ ได้เดินหน้าจับมือกับพาร์ทเนอร์แล้ว 2 ราย คือ 1. GMM ในรูปแบบ Across the Universe JV โดยอาร์เอส มิวสิค ถือหุ้น 50% เป็นความร่วมมือกันทางด้านงานคอนเสิร์ต 3 ปี (2566-2568) ระหว่างนี้อาจมีความร่วมมืออื่นๆเพิ่มเข้ามา 2. ร่วมกันจัดตั้งกิจการร่วมค้า (Joint Venture) กับค่ายเพลงอันดับหนึ่งของโลก คือ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค กรุ๊ป (Universal Music Group หรือ UMG) ซึ่งอาร์เอส มิวสิค ถือหุ้น 30% ส่วนยูนิเวอร์แซล มิวสิค กรุ๊ป ถือหุ้น 70% กับเงินลงทุนที่ใส่เข้ามา 1,600 ล้านบาท เพื่อร่วมบริหารลิขสิทธิ์เพลงของ อาร์เอส ที่มีมากกว่า 13,000 เพลง ทำให้ผู้คนจากทั่วโลกเข้าถึงคอนเทนต์ด้านดนตรีของอาร์เอส มิวสิค ได้อย่างหลากหลายยิ่งขึ้น ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Facebook, Instagram, TikTok หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิงได้แก่ Spotify, Apple Music, JOOX และอื่นๆ
“UMG จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ อาร์เอส มิวสิค ในด้านต่างๆ ดังนี้ 1.เพิ่มประสิทธิภาพการสร้างรายได้ออนไลน์ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 30-40% และมี Impressions เพิ่มขึ้น 15-20% จากแพลตฟอร์ม OTT ต่างๆ ผ่านการบริหารของ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค 2.ขยายช่องทางการเผยแพร่งานเพลงผ่านตลาดต่างประเทศและมีเครือข่ายที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสให้แก่ศิลปินในสังกัดและคอนเทนต์ของ อาร์เอส มิวสิค ในตลาดต่างประเทศ 3.ใช้ทรัพยากรของ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค ในการพัฒนาศิลปินและคอนเทนต์ของ อาร์เอส มิวสิค ผ่านการใช้เทคโนโลยี Data Analytics ที่ทันสมัยในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงความร่วมมือในอนาคตเพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ร่วมกับศิลปินของ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค ในขณะที่อาร์เอส มิวสิค จะบริหารลิขสิทธิ์เพลงภายในประเทศในช่องทางออฟไลน์ ทั้งร้านอาหาร ผับ บาร์ คาราโอเกะ การทำมิวสิค มาร์เก็ตติ้ง และการใช้งานรูปแบบอื่นๆ อาทิ การจัดคอนเสิร์ต และโชว์บิซ” นายสุรชัย กล่าว
จากความร่วมมือเหล่านี้ ส่งผลให้โครงสร้างธุรกิจของ อาร์เอส มิวสิค ครอบคลุมการทำธุรกิจเพลงทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วย 1. Digital Monetization กับเพลงใหม่ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ที่จะสร้างรายได้บนช่องทางออนไลน์ ดูแลโดยทาง UMG 2. Copyrights ภายใต้ บริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด (TCC) ที่อาร์เอส มิวสิค ถือหุ้น 100% กับการบริหารลิขสิทธิ์จากอีเวนต์ และช่องทางออฟไลน์อื่นๆ 3. Marketing & Brand Engagement เกี่ยวกับแคมเปญมิวสิคมาร์เก็ตติ้งเพื่อสร้างเอ็นเกจเมนต์ของแบรนด์ 4. Showbiz & Concerts กับการจัดกิจกรรม อีเวนต์ เฟสติวัล และคอนเสิร์ต 5. Talent Management การบริหารและดูแลศิลปิน
เฮียฮ้อ ยังได้กล่าวถึงตัวเลขรายได้ด้วยว่า ปีนี้จะอยู่ที่ 720 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนรายได้ มาจาก Online & Offline และ Monetization 130 ล้านบาท, Marketing & Brand Engagement 200 ล้านบาท, Showbiz & Concerts 350 ล้านบาท และ Talent Management 40 ล้านบาท จากนั้นใน 3 ปี หรือในปี 2568 ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 1,200 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนรายได้ มาจาก Online & Offline Monetization 40%, Marketing & Brand Engagement 25%, Showbiz & Concerts 25% และ Talent Management 10%
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลยุทธ์การเติบโตและสร้างรายได้ 3 ปีนับจากนี้ (2566-2568) จะเริ่มจาก 1.ปี 2566 ทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพลงภายใต้โครงสร้างใหม่ของ อาร์เอส มิวสิค, เน้นการลงทุนเพื่อสร้างผลงานเพลงใหม่และคอนเทนต์ และเสริมความแข็งแกร่งให้รากฐานของธุรกิจผ่านความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น GMM และ UMG
2.ปี 2567 จะมุ่งสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ มากกว่า 200 เพลง, สร้างการเติบโตรายได้ผ่านทาง Online Monetization/ Music Marketing &Brand Engagement/ Showbiz & Concerts และตั้งเป้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
3.ปี 2568 ขยายสู่ตลาดต่างประเทศด้วยคอนเทนต์คุณภาพระดับสากล, M&A เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ RS MUSIC และทำโปรเจกต์พิเศษผ่านAcross the Universe JV
นายสุรชัย ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า เพื่อให้การดำเนินงานและรายได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อาร์เอส มิวสิค จึงประกาศแต่งตั้ง นางพรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งนางพรพรรณ เป็นผู้บริหารที่มีความรู้และความสามารถสูง ทั้งยังเข้าใจธุรกิจสื่อและบันเทิงของ อาร์เอส กรุ๊ป เป็นอย่างดี จึงเป็นกำลังสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์ และทรานส์ฟอร์มธุรกิจเพลงให้แข็งแกร่ง โดดเด่น และสอดรับกับเป้าหมายในระยะยาว ทั้งการนำธุรกิจเพลงภายใต้ อาร์เอส มิวสิค เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และสร้างรายได้ให้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1,200 ล้านบาท ภายใน 3 ปี โดยคาดว่ารายได้จากผลงานเพลงใหม่และการบริหารลิขสิทธิ์จะมีสัดส่วนมากที่สุดหรือประมาณ 40% ของรายได้ทั้งหมด