กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหารือผู้บริหาร ปตท. และคาเฟ่ อเมซอน ที่เวียงจันทน์ พบเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนร้านคาเฟ่ หลังคนรุ่นใหม่นิยมดื่มกาแฟเพิ่มขึ้น และ สปป.ลาว ยังเป็นแหล่งผลิตกาแฟสำคัญ สามารถร่วมมือกันได้ ล่าสุดพบ ปตท.ปักธงเปิดแล้ว 86 สาขา
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัท ปตท. และ Café Amazon ในนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เพื่อหารือเรื่องโอกาสการขยายการค้า และการลงทุนใน สปป.ลาว โดยพบว่า สปป.ลาว เป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนร้านคาเฟ่ แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรเพียง 7.5 ล้านคน แต่เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงของโลก อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคใน สปป.ลาว เริ่มเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่หันมาบริโภคเครื่องดื่มที่มีแบรนด์และใส่ใจเรื่องอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวของสปป.ลาว ทำให้ร้านคาเฟ่มีโอกาสเติบโตสูง และในส่วนของ ปตท. เองก็มีการลงทุนร้าน Café Amazon เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเปิดแล้ว 86 สาขา ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 100 สาขาในปีนี้ ทั้งตั้งอยู่ในปั๊มน้ำมัน และสถานที่ต่างๆ
ทั้งนี้ กาแฟถือเป็นสินค้าเศรษฐกิจสำคัญของ สปป.ลาว ส่วนใหญ่จะปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิกาในที่ราบสูงโบลาเวนทางตอนใต้ แถบแขวงจำปาสัก เซกอง และสาละวัน โดยกาแฟที่ปลูกจะมีจุดเด่น คือ เป็นกาแฟออร์แกนิก มีกลิ่นหอม รสชาตินุ่มแต่มีความเข้ม ส่งผลให้ สปป.ลาว เป็นผู้ผลิตกาแฟใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากเวียดนาม และอินโดนีเซีย โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ เวียดนาม ไทย ญี่ปุ่น เยอรมนี และเบลเยียม
โดยการส่งออกกาแฟและเมล็ดกาแฟดิบของ สปป.ลาว ในปี 2565 เป็นมูลค่า 139.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้า โดยส่งไปเวียดนาม อันดับ 1 มูลค่า 53.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งมาไทยเป็นอันดับ 2 มูลค่า 25.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ไทยยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟจากเพื่อนบ้าน เนื่องจากผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับ สปป.ลาว มีแผนที่จะพัฒนาการผลิตกาแฟให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงขยายการส่งออกมากขึ้น ดังนั้น ไทยและสปป.ลาวน่าจะสามารถร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุตสาหกรรมกาแฟกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการวิจัยเชิงวิชาการ การร่วมทุน และการใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีในกรอบอาเซียนเพื่อการค้ากาแฟระหว่างกัน
นางอรมนกล่าวว่า ยังได้เข้าเยี่ยมชมกิจการฟาร์มควายนมของหลวงพระบาง (Lao Buffalo Dairy) ซึ่งเป็นกิจการฟาร์มนมควายแห่งแรกใน สปป.ลาว ลงทุนโดยชาวออสเตรเลีย มีควายนมกว่า 200 ตัว รีดน้ำนมและทำผลิตภัณฑ์ เช่น ชีส และไอศกรีม จำหน่ายหน้าฟาร์ม โรงแรม ร้านอาหาร และร้านคาเฟ่ ในเมืองหลวงพระบาง สร้างรายได้มูลค่า 45,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถือเป็นกิจการที่น่าสนใจและเป็นทางเลือกใหม่ให้กับทั้งเกษตรกรและผู้บริโภคของ สปป.ลาว โดยเฉพาะผู้แพ้นมวัวแต่ยังต้องการโภชนาการสูงจากนม อย่างไรก็ดี เนื่องจากปริมาณที่ผลิตได้ยังมีน้อย เพียงพอแค่สำหรับบริโภคในท้องถิ่น จึงยังต้องอาศัยการลงทุนและพัฒนาอีกมากหากจะผลิตในระดับประเทศ
ส่วนไทย มีผู้ประกอบการฟาร์มควายนมไม่มากนัก เช่น มูร่าห์ฟาร์ม ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สอนศิริฟาร์มควายไทยที่ปราจีนบุรี ฟาร์มควายนมของโครงการหลวงแม่ทาเหนือ มูร่าห์เฮาส์ ในจังหวัดเชียงใหม่ และฟาร์มโคนมบ้านกุดรังจังหวัดนครนายก เป็นต้น โดยฟาร์มเหล่านี้มีการจำหน่ายนมควายและผลิตภัณฑ์จากนมควายเช่นกัน เช่น โยเกิร์ต ชีส และไอศกรีม โดยพบว่าผลิตภัณฑ์จากนมควายถือเป็นทางเลือกให้ผู้แพ้นมวัว แต่ยังต้องการโภชนาการสูงจากนม โดยนมควายจะมีสารอาหาร เช่น แคลเซียม และโปรตีนสูง มีคอเลสเตอรอลต่ำ และไม่มีกลิ่นคาว ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสินค้านมควายและผลิตภัณฑ์ได้เนื่องจากราคาดีและยังมีผลผลิตในปริมาณน้อย ในปัจจุบันประเทศที่มีการเลี้ยงควายนมมาก เช่น อินเดีย ปากีสถาน และจีน เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้มีโอกาสสำรวจตลาดนมโคและผลิตภัณฑ์ใน สปป.ลาว พบสินค้าแบรนด์ไทยวางจำหน่าย ทั้งนมสดพาสเจอไรซ์ และนมยูเอชที ซึ่ง สปป.ลาว ถือเป็นตลาดส่งออกนมอันดับ 2 ของไทย รองจากกัมพูชา ในปี 2565 ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลก มูลค่า 593.11 ล้านดอลลาห์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากปี 2564 เป็นการส่งออกไปสปป.ลาว มูลค่า 76.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับช่วง 5 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไปตลาดโลก มูลค่า 262.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยส่งออกไปกัมพูชาอับดับ 1 อยู่ที่ 78.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกไป สปป.ลาว อันดับ 2 มูลค่า 36.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 13.3 จากปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก ร้อยละ 17.2 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยสินค้านมและผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไป สปป.ลาว ได้แก่ นมยูเอชที นมและครีม และเนย เป็นต้น