xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำอู 5” ระบายตะกอนก้นอ่างที่กักไว้ 8 ปี ส่งผลปลาท้ายเขื่อนลอยขึ้นมาตายเป็นแพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปลาจำนวนมากในแหล่งน้ำท้ายเขื่อนน้ำอู 5 ลอยขึ้นมาตายเพราะขาดออกซิเจน หลังเขื่อนระบายตะกอนที่สะสมไว้ก้นอ่างเก็บน้ำตั้งแต่ปี 2558 ออกมา
MGR Online - เขื่อนน้ำอู 5 ระบายตะกอนก้นอ่างเก็บน้ำที่สะสมไว้ 8 ปี ตั้งแต่สร้างเขื่อนเสร็จเมื่อปี 2558 ส่งผลให้ปลาจำนวนมากในแหล่งน้ำท้ายเขื่อนขาดออกซิเจนลอยขึ้นมาตายเป็นแพ แขวงผ้งสาลีบังคับให้เขื่อนซื้อปลามาปล่อยทดแทน

ช่วงบ่ายวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ชาวบ้านในเมืองสำพัน แขวงผ้งสาลี ได้พบเห็นปลาจำนวนมากลอยขึ้นมาตายเป็นแพอยู่บนผิวน้ำหลายจุดตามแหล่งน้ำบริเวณท้ายเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำอู 5 หลังจากก่อนหน้านั้น 1 วัน เขื่อนน้ำอู 5 เพิ่งมีการระบายน้ำออกมาจากอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้สร้างความวิตกกังวลอย่างยิ่งแก่ชาวบ้าน

นายบุนเฮียง แสนสุลิน รองเจ้าเมืองสำพัน ได้ชี้แจงผ่านรายการ “รอบบ้านผ่านเมือง” ทางสถานีวิทยุแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน โดยให้รายละเอียดว่า เขื่อนน้ำอู 5 ได้แจ้งไปยังฝ่ายปกครองเมืองสำพันตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายนแล้วว่า เขื่อนจะมีการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำในวันที่ 26 มิถุนายน เนื่องจากขณะนั้นระดับน้ำในอ่างได้ลดลงมาอยู่ที่ 430 เมตร ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดที่สามารถใช้งานได้ (ระดับน้ำตาย) ซึ่งภายในน้ำที่เหลืออยู่ระดับนี้เต็มไปด้วยตะกอนตะกอนที่ถูกสะสมไว้ตั้งแต่เขื่อนเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปี 2558 ส่วนใหญ่เป็นเศษพืชและเศษใบไม้ ทำให้เขื่อนจำเป็นต้องระบายน้ำเหล่านี้ออกมาเพื่อเตรียมพื้นที่ไว้รองรับน้ำที่จะเพิ่มเข้ามาใหม่

เวลา 13.15 น.ของวันที่ 26 มิถุนายน เขื่อนได้เริ่มการระบายน้ำ และยังคงปล่อยน้ำออกมาต่อเนื่องจนถึงช่วงเย็นของวันที่ 27 มิถุนายน แต่เนื่องจากน้ำที่ถูกปล่อยลงไปนั้นเต็มไปด้วยตะกอนที่ถูกกักเก็บไว้เป็นเวลานาน 8 ปี เมื่อตะกอนเหล่านี้ไหลลงไปยังแหล่งน้ำท้ายเขื่อน ทำให้ระดับออกซิเจนในน้ำของแหล่งน้ำเหล่านั้นลดลง จึงคาดว่าเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้ปลาตาย


รองเจ้าเมืองสำพันกล่าวว่า ฝ่ายปกครองแขวงผ้งสาลีได้แจ้งไปยังเขื่อนน้ำอู 5 ให้แสดงความรับผิดชอบกับเหตุการณ์นี้ ส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บซากปลาที่ลอยตายไปฝังกลบและทำความสะอาดแหล่งน้ำบริเวณท้ายเขื่อนทุกจุดที่พบปลาตาย นอกจากนี้ ให้เขื่อนซื้อปลามาปล่อยลงแหล่งน้ำเพื่อทดแทนปลาที่ตายไปแล้ว และในระยะยาวให้ฝ่ายปกครองเมืองสำพันและฝ่ายบริหารเขื่อนน้ำอู 5 ร่วมปรึกษาหารือเพื่อวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นมาอีก

อย่างไรก็ตาม จากการลงตรวจสอบพื้นที่แหล่งน้ำที่เคยพบว่ามีปลาตายล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พบว่า น้ำในแหล่งน้ำทุกจุดกลับมาสู่สภาพปกติแล้ว

เขื่อนน้ำอู 5 เป็น 1 ใน 7 เขื่อนของโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำอูที่ถูกสร้างเรียงไล่ลงไปเป็นลักษณะขั้นบันไดตามแนวลำน้ำอู ตั้งแต่แขวงผ้งสาลี ถึงแขวงหลวงพระบาง ทั้ง 7 เขื่อนมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,332 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดยบริษัท Power China Resources จากจีน ใช้เงินลงทุนกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีอายุสัมปทาน 29 ปี นับจากเริ่มเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อปี 2558 ไฟฟ้าที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ใช้ในภาคเหนือของลาว ส่วนที่เหลือส่งขายออกไปจีนและเวียดนาม

แม่น้ำอูมีความยาวรวม 448 กิโลเมตร ต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาบริเวณชายแดนลาว-จีน ที่บ้านลานตุย เมืองยอดอู แขวงผ้งสาลี ไหลลงใต้ผ่านแขวงอุดมไซ ก่อนลงสู่แม่น้ำโขงที่เมืองปากอู ตอนเหนือของหลวงพระบาง.




กำลังโหลดความคิดเห็น