ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชาวบ้านด่านขุนทด กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด จาก 3 ตำบล รวมตัวลาน “ย่าโม” เรียกร้องให้ปิดเหมืองโปแตชของ บริษัท ไทยคาลิ หลังปล่อยน้ำเค็มสร้างความเสียหายแก่ไร่นาหลายพันไร่ พร้อมบุกศาลากลางจังหวัดฯ ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ โคราชช่วยแก้ปัญหาจริงจังและนอนปักหลักที่ศาลากลางฯ รอคำตอบ หากไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจขู่บุกทำเนียบรัฐบาล
วันนี้ (26 มิ.ย.) เวลา 09.00 น. ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) อ.เมือง จ.นครราชสีมา ได้มีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดกว่า 150 คน จาก 3 ตำบลในเขต อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ประกอบไปด้วย ต.หนองบัวตะเกียด ต.หนองไทร และ ต.โนนเมืองพัฒนา ที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบการทำเหมืองแร่โปแตชของ บริษัท ไทยคาลิ จำกัด เดินทางมารวมตัวเรียกร้องให้เหมืองแร่โปแตชทำการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ภายหลังจากที่เหมืองแร่โปแตชแห่งนี้ได้รับอนุญาตตามประทานบัตรทำเหมืองโปแตชเป็นระยะเวลา 25 ปี ระหว่างปี 2558-2583 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ต.หนองไทร ต.หนองบัวตะเกียด และ ต.โนนเมืองพัฒนา อ.ด่านขุนทด รวมเนื้อที่กว่า 9,000 ไร่
ต่อมามีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ส่งผลกระทบทำให้ที่ดิน ไร่ นาของชาวบ้านใน 3 อำเภอได้รับผลกระทบไม่สามารถทำไร่ ทำนาได้ ความเสียหายบริเวณกว้างหลายพันไร่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการเดินขบวนเรียกร้องของชาวบ้านมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเสียที
ดังนั้นชาวบ้านจึงได้มีการรวมตัวเรียกร้องครั้งนี้ โดยมีการเปิดเวทีปราศรัยที่บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) หลังจากนั้นเวลา 10.30 น. จะเดินขบวนไปที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาเพื่อยื่นหนังสือถึงนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอย่างจริงจัง โดยชาวบ้านทั้งหมดจะปักหลักนอนรออยู่ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดนครราชสีมาเป็นเวลา 2 คืนเพื่อรอฟังคำตอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หากไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป
นางคะนึง บางขุนทด อายุ 62 ปี ชาวบ้านไทรงาม หมู่ 9 ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตช กล่าวว่า ตนมีที่ดินทำการเกษตรอยู่จำนวน 23 ไร่ ซึ่งในอดีตได้มีการปลูกอ้อย 10 ไร่ ทำนาข้าว 13 ไร่ ได้ผลผลิตตามปกติ แต่ภายหลังจากที่มีการตั้งเหมืองแร่โปแตชของบริษัทไทยคาลิ จำกัด เหมืองฯ ก็เริ่มมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนทำให้ที่ดินทำการเกษตรของตนเองเริ่มเกิดปัญหาดินเค็ม ปลูกอะไรก็ไม่ได้ผลผลิต และช่วงหลังๆ ทั้งอ้อยและข้าวปลูกแล้วก็ตายหมด
โดยเฉพาะปีที่แล้วตนเองได้ปลูกข้าว 13 ไร่ ลงทุนไปกว่า 90,000 บาท ปรากฏว่าข้าวตายเกลี้ยง เสียหาย 100% โดยที่ได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐแค่ไม่กี่บาท ปีนี้ก็เสี่ยงไถนาปลูกข้าวอีก ลงทุนไปแล้วกว่า 30,000 บาท ดำนาไปแล้ว ไม่รู้ว่าจะเสียหายอีกหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องจากหน่วยงานภาครัฐไปแล้วก็ตาม ก็มีการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างดิน และทางโรงงานเหมืองโปแตชแค่มีการนำยางมาปูในบ่อบำบัดน้ำเสียแค่ 2 บ่อเท่านั้น ทั้งที่บ่อในโรงงานมีถึง 7 บ่อ แต่ก็ไม่ได้ทำทั้งหมด หลังจากนั้นก็ไม่ได้ทำการแก้ปัญหาอะไรอย่างจริงจังเสียที
ที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาร่วมระหว่างชาวบ้านกับโรงงาน แต่ท้ายที่สุดก็เอื้อประโยชน์ให้โรงงานตลอด ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่ต้องการเข้าร่วมกับคณะกรรมการนี้แล้ว โดยอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านโดยตรงอย่างเร่งด่วน ถ้าเป็นไปได้อยากให้ปิดเหมืองแร่โปแตชไปเลยยิ่งดี เพราะตั้งแต่ตั้งเหมืองโปแตชมา มีแต่จะทำให้ที่ดินของชาวบ้านเสียหายอย่างต่อเนื่อง