คณะทำงานร่วมไทย-ญี่ปุ่นในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ศูนย์ข้อมูลสถานีค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่อง (CORS) แห่งชาติ เพื่อให้บริการข้อมูลค่าพิกัดอ้างอิงจากโครงข่ายสถานี CORS ที่มีความถูกต้องสูงและมีเสถียรภาพ โดยมีพันธมิตรร่วมจัดงานสาธิตการใช้ประโยชน์ศูนย์ข้อมูลสถานีค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องแห่งชาติ (NCDC) ด้านเทคโนโลยีการเกษตร พร้อมผลักดันให้เกิดการใช้งานอย่างเต็มที่
ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ กล่าวว่า GISTDA ในฐานะเลขานุการคณะทำงานร่วมไทย-ญี่ปุ่น มีนโยบายที่จะพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ศูนย์ข้อมูลฯ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาคสังคม ให้รับทราบและมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงอยู่แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับงานในครั้งนี้ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับ JICA เพื่อผลักดันศูนย์ข้อมูลค่าพิกัดอ้างอิงแบบต่อเนื่องแห่งชาติ ในด้านเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร จำนวน 5 โครงการนำร่องด้านการเกษตรจากโครงการ The Gnss cORS in Thailand (TIGORS) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำระดับประเทศมาร่วมสาธิตในด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1.) บริษัท Quantum Motus สาธิตโดรนเกษตรหว่านปุ๋ย โดยใช้กล้องสเปกตรัมเพื่อถ่ายภาพขนาดบิน และแสดงภาพจากกล้องโดรน (RGB, NDVI) ผ่านจอมอนิเตอร์, 2.) บริษัท Siam Yamaha Motor Robotics Co., Ltd., Dep. of agriculture การบินสาธิตการหว่านปุ๋ยด้วยเฮลิคอปเตอร์เกษตรไร้คนขับ, 3.) บริษัท BioMatLink Co., Ltd. สาธิตเครื่องจักรกลการเกษตร (รถไถขนาดเล็ก) พร้อมอุปกรณ์ติดตาม, 4.) บริษัท Topcon Corporation, Topcon Positioning Asia (Thailand) สาธิตการบังคับเลี้ยวอัตโนมัติของรถแทรกเตอร์และเครื่องดำนา โดยการวิ่งเป็นเลขแปด และ 5.) บริษัท YANMAR AGRIBUSINESS Co., Ltd, YANMAR S.P. Co., Ltd. สาธิตรถแทรกเตอร์วิ่งแนวตรงและตัวช่วยควบคุม พร้อมให้ผู้ชมได้สัมผัสในการใช้งานอีกด้วย
"โครงการนี้เป็นโครงการที่จะพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ศูนย์ข้อมูลสถานีค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่อง (CORS) แห่งชาติ ซึ่งศูนย์ข้อมูลดังกล่าวถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และรักษาความมั่นคงให้กับประเทศ เนื่องจากเป็นข้อมูลค่าพิกัดอ้างอิงที่มีความถูกต้องสูงระดับ 3-5 เซนติเมตรที่ให้บริการโดยกรมแผนที่ทหารที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ ได้จริง เช่น งานสำรวจเพื่อจัดทำแผนที่ งานรังวัดและจัดทำแปลงที่ดิน งานด้านวิศวกรรมและก่อสร้างสาธารณูปโภค งานด้านภัยพิบัติ งานด้านบริหารจัดการน้ำ งานด้านคมนาคมขนส่งและยานยนต์ไร้คนขับ งานด้านเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) และงานด้านความมั่นคง ทั้งนี้ก็เพื่อให้บริการข้อมูลค่าพิกัดอ้างอิงจากโครงข่ายสถานี CORS มีความถูกต้องสูง มีเสถียรภาพ และสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากศูนย์ NCDC ด้านเทคโนโลยีการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดให้เกิดการใช้งานในประเทศไทยต่อไป" โฆษก GISTDA กล่าว