xs
xsm
sm
md
lg

"คมนาคม" สุ่มตรวจด่านชั่งน้ำหนักบนมอเตอร์เวย์สาย 7, 9 สั่งเพิ่มมาตรการคัดกรอง เล็งแก้ กม.เพิ่มโทษรถหนีด่าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"คมนาคม" สุ่มตรวจด่านชั่งน้ำหนัก 4 แห่ง "ลำลูกกา-ลาดกระบัง-บางบ่อ" บนมอเตอร์เวย์สาย 7, 9 ระบบ WIM สั่งเพิ่มมาตรการคัดกรอง เล็งแก้กฎหมาย เพิ่มโทษรถไม่เข้าชั่งน้ำหนักที่สถานีฯ และน้ำหนักเกิน

วันที่ 15 มิ.ย. 2566 นายมนตรี เดชาสกุลสม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก พร้อมด้วยคณะทำงานฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานีตรวจสอบน้ำหนัก บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 และ 9

นายมนตรี เดชาสกุลสม เปิดเผยว่า นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่โดยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก ได้มอบให้คณะทำงานฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวอย่างเต็มที่ ให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และจากการลงพื้นที่สถานีตรวจสอบน้ำหนักของคณะทำงานฯ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 และ 7 มิถุนายน 2566 พบว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงจำเป็นต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมจากสถานีฯ อื่นๆ ด้วย เพื่อให้การประมวลและประเมินผลมีความครบถ้วนและชัดเจนในทุกมิติ ในการประชุมคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 จึงได้มีมติให้คณะทำงานฯ กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ลงพื้นที่สุ่มตรวจสถานีที่เหลือและรายงานผลให้คณะทำงานฯ ทราบ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลเสนอคณะกรรมการฯ พิจารณามอบหมายแนวทางการดำเนินงานต่อไป


สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้คณะทำงานฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานีฯ จำนวน 4 แห่ง โดยมี Check list ในการตรวจสอบการดำเนินงานว่าเป็นไปตามกระบวนการหรือเงื่อนไขหรือไม่ ประกอบด้วย ด้านเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์และเครื่องมือ และกระบวนการเข้าตรวจสอบน้ำหนักที่สถานีฯ สรุปผลได้ดังนี้

- สถานีตรวจสอบน้ำหนักลำลูกกา (ขาออก) กม. ที่ 32+400 จังหวัดปทุมธานี สถานีตรวจสอบน้ำหนักบนมอเตอร์เวย์ M7 ลาดกระบัง (ขาออก) ทล.7 กม. ที่ 29+900 กรุงเทพฯ และสถานีตรวจสอบน้ำหนัก บางบ่อ (ขาเข้า) กม. ที่ 39+500 จังหวัดฉะเชิงเทรา

พบว่าสถานีฯ ทั้ง 3 แห่งมีการตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกโดยใช้เทคโนโลยีระบบตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะเคลื่อนที่ (WIM) ที่ติดตั้งก่อนถึงสถานีตรวจสอบน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลเมตร เพื่อเป็นระบบคัดแยกประเภทรถและน้ำหนัก และมีการตรวจสอบน้ำหนักอีกครั้งด้วยระบบ Static ในกรณี WIM ตรวจพบค่าน้ำหนักเกิน และมีหน่วย Spot Check ซึ่งจะออกตรวจสัปดาห์ละ 3 วัน โดยรถบรรทุกที่วิ่งผ่านเส้นทางให้ความร่วมมือในการตรวจสอบน้ำหนักเป็นอย่างดี

- สถานีตรวจสอบน้ำหนักบนมอเตอร์เวย์ M9 ลำลูกกา (ขาเข้า) ทล.9 กม. ที่ 36+500 จังหวัดปทุมธานี พบว่า สถานีฯ ใช้ระบบ Static ในการตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุก และมีหน่วย Spot Check ออกตรวจสัปดาห์ละ 3 วัน โดยมีรถบรรทุกวิ่งผ่านเส้นทางนี้จำนวนมาก ซึ่งบางช่วงเวลาอาจจะส่งผลกระทบต่อการจราจร จึงได้บูรณาการร่วมกับตำรวจทางหลวงในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว


สำหรับเครื่องชั่งน้ำหนักของทั้ง 3 ด่าน ได้รับการรับรองความเที่ยงตรงจากสำนักงานกลาง ชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ แล้ว ซึ่งจะมีการตรวจมาตรฐานเพื่อต่ออายุหนังสือรับรองทุก 2 ปี

ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้มีข้อสังเกตว่าในเส้นทางที่มีรถบรรทุกผ่านสถานีฯ จำนวนมาก บางคันไม่เข้าชั่งน้ำหนักที่สถานีฯ ได้รับคำชี้แจงว่าเป็นรถเปล่า ไม่มีสินค้าบรรทุก หรือมีใบชั่งน้ำหนัก คณะทำงานฯ จึงได้สุ่มตรวจรถที่ไม่ได้เข้าชั่งน้ำหนักไม่พบรถน้ำหนักเกิน นอกจากนี้ จากการสอบถามหัวหน้าสถานีฯ พบว่าทุกสถานีฯ มีปัญหาขาดแคลนอัตรากำลัง โดยคณะทำงานฯ ได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้

1. ให้ปรับปรุงข้อความบนป้ายก่อนเข้าสถานีฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
2. ให้เร่งติดตั้งระบบ WIM ที่สถานีฯ ให้ครบทุกแห่ง
3. กำหนดมาตรการสุ่มตรวจรถที่ไม่เข้าชั่งน้ำหนักที่สถานีฯ ให้ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และได้มาตรฐานยิ่งขึ้น
4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ทล. ตำรวจทางหลวง ทช. และ ขบ. ต้องหารือร่วมกันถึงแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบน้ำหนัก รวมถึงการเชื่อมต่อระบบ GPS ในรถบรรทุกกับ ขบ.
5. พิจารณาแก้ไขกฎหมาย โดยเพิ่มโทษรถที่ไม่เข้าชั่งน้ำหนักที่สถานีฯ และไม่ผ่านการตรวจสอบน้ำหนัก


ทั้งนี้ คณะทำงานฯ จะนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่ไปประมวลผล เพื่อนำเสนอคณะกรรมการฯ และเสนอกระทรวงฯ จัดทำแผนปรับปรุงและพัฒนาระบบที่ใช้กับสถานีฯ ต่อไป โดยประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนเกี่ยวกับส่วยสติกเกอร์บนรถบรรทุก ได้ที่เว็บไซต์กระทรวงคมนาคม www.mot.go.th และสายด่วนศูนย์ปลอดภัยคมนาคม โทร. 1356 เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและปราบปราม การกระทำผิดต่อไป

กระทรวงฯ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการทุกขั้นตอนด้วยความโปร่งใส ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย รวมถึงตรวจสอบในทุกประเด็นเพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงและเชื่อมั่นในการดำเนินการของกระทรวงฯ และหากผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้อง กระทรวงฯ จะดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้นต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น