xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ถก "บีทีเอส" แก้หนี้สีเขียว เตรียมชงสภา กทม.เดือน ก.ค.พิจารณาจ่ายค่าติดตั้งระบบ 2.2 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชัชชาติ” หารือ "บีทีเอส" คลียร์หนี้ "สีเขียว" เตรียมเสนอสภา กทม.ก.ค.นี้ อนุมัติจ่ายค่าติดตั้งระบบ 2.2 หมื่นล้านบาท เผยต้องพิจารณาปม "เคที" ทำสัญญาจ้างบีทีเอสโดยไม่ผ่านสภากทม.ก่อน จากนั้นจึงพิจารณาจ่ายหนี้ ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถ เงื่อนไขสัมปทานใหม่ต้องรอ ครม.

วันที่ 12 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้หารือร่วมกับนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี และผู้บริหารของทั้งสองฝ่าย ถึงแนวทางแก้ไข ปัญหาภาระหนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จากนั้นได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้า

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า วันนี้บีทีเอสมาหารือเรื่องหนี้ค่าจ้างการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ช่วง แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งครบกำหนดชำระ โดย กทม.ต้องดำเนินการ 2 ขั้นตอน คือ 1. เนื่องจาก บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที ว่าจ้างบีทีเอสซี เดินรถตามที่ กทม.มอบหมาย แต่ยังไม่ผ่านสภา กทม. ดังนั้นต้องเสนอสภา กทม.พิจารณาอนุมัติเรื่องให้เคทีก่อหนี้ผูกพันก่อน 2. กรณีจ่ายเงินค่าจ้างการติดตั้งระบบ E&M ต้องเสนอสภา กทม.อนุมัติ ว่าจะใช้เงินสะสมมาชำระอย่างไร 

เนื่องจากเรื่องนี้มีรายละเอียดมาก ที่ผ่านมา กทม.มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา มีการประชุมแล้ว 5 ครั้ง และคาดว่าสภา กทม.จะมีการเปิดประชุมสมัยหน้าในเดือน ก.ค. 2566 จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา ซึ่งปัจจุบัน กทม.มีเงินสะสมประมาณ 40,000 ล้านบาท แต่จะพยายามนำมาใช้ให้น้อยที่สุด โดยหากจะนำไปชำระหนี้ค่าติดตั้งระบบ
ก็ต้องเสนอสภา กทม.ออกข้อบัญญัติ ใช้เงินสะสมจ่ายขาด ซึ่งทุกคนเห็นรถไฟฟ้าสีเขียววิ่งให้บริการแล้ว สุดท้ายต้องดูว่าจะปฏิบัติตามสัญญาอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย

“กทม.เห็นใจเอกชน เพราะเห็นว่าได้ดำเนินการหลายเรื่อง มีการเดินรถตลอด แต่เป็นระเบียบปฏิบัติ ที่ผมในฐานฝ่ายบริหาร กทม. และสภา กทม. ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ต้องศึกษาและพยายามทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพราะบางเรื่องมีความซับซ้อน และแต่ละคนไม่มีพื้นฐานด้านนี้มาก่อน โดยศึกษามาระดับหนึ่งแล้วน่าจะเดินหน้าต่อไปได้ แต่การใช้เงินอย่างไร ต้องมีระเบียบปฏิบัติที่ถูกต้อง ได้อธิบายให้บีทีเอสเข้าใจว่ามีขั้นตอน ผู้ว่าฯ จะไปอนุมัติ ผู้ว่าฯ ไม่ได้มีอำนาจ” นายชัชชาติกล่าว


นายชัชชาติกล่าวว่า อีกเรื่องที่จะทำคู่ขนานกับการนำเรื่องเข้าสภา  กทม.กรณีหนี้ค่าจ้างติดตั้งระบบ E&M คือ ติดตามเร่งรัดในฝั่งของรัฐบาล โดยทำหนังสือผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณา 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนค่าโครงสร้างพื้นฐาน เหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น และค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 2 ซึ่งตามคำสั่ง ม.44 ได้มอบหมายให้ กทม.รับผิดชอบรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่ได้ให้เรื่องค่าใช้จ่ายมาด้วย ซึ่งเรื่องนี้ได้เสนอ ครม.ผ่านกระทรวงมหาดไทยไปแล้วว่า กทม.มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ

2. เรื่อง ม.44 ที่ยังค้างอยู่ เพราะมูลหนี้ค่าติดตั้งระบบ E&M อยู่ในเงื่อนไขสัญญาสัมปทานใหม่ที่ กทม.ส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อเสนอ ครม.พิจารณา ซึ่งมูลหนี้ดังกล่าวคาดการณ์จะถูกหักลบด้วยสัญญาสัมปทาน ที่ผ่านมา กทม.เคยสอบถาม ครม.จะเอาอย่างไรเรื่องสัญญาสัมปทานตาม ม.44 แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งเป็นเวลาหลายปีแล้วจะเดินหน้าต่อหรือจะหยุด ซึ่งจะทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอรับทราบความคืบหน้าจาก ครม.ต่อไป เพราะเรื่องขยายสัมปทานเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินทั้งหมดยังไม่มีคำตอบออกมา

3. สอบถามไปยัง ครม.เร่งรัดจะดำเนินการอย่างไร ซึ่ง กทม.เห็นใจ เอกชนมีภาระหนี้ เพราะบีทีเอสช่วยแบ่งเบาเรื่องการเดินทาง ปัจจุบันมีคนใช้ประมาณ 1 ล้านเที่ยวคน/วัน สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีภาระรวมประมาณ 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่าโครงสร้างพื้นฐาน และค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งส่วนนี้  กทม.เสนอขอรัฐบาลรับภาระ หากจะจบง่าย


@"คีรี" มั่นใจ กทม.รับจ่ายหนี้ค่าติดตั้งระบบ 2.2 หมื่นล้านบาท

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบีทีเอส กล่าวขอบคุณผู้ว่าฯ  กทม.ที่ให้เข้ามาคุยด้วย แม้ว่าจะเป็นครั้งแรกก็ตาม วันนี้ไม่อยากใช้คำว่าเจรจา แต่เป็นการคุยกันเพื่อเข้าใจกันมากขึ้น ขอบคุณที่เข้าใจเอกชนที่รับภาระมาเป็นเวลา 4 ปีแล้ว วันนี้ต้องเข้าใจว่าต้องจ่าย 2 ส่วน ทั้งค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ (E&M) ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณครบกำหนด ตามสัญญาวันที่ 29 พ.ค. 2566 ที่ต้องจ่าย จึงมาหารือเพราะถึงเวลาต้องชำระ ผู้ว่าฯ กทม.ยืนยันจะเสนอสภา กทม.พิจารณา ทำให้บริษัทมีความมั่นใจว่าจะมีเงินก้อนนี้เข้ามาก่อน

ส่วนค่าจ้างการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) เป็นเงินอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาทเป็นเรื่องใน ม.44 ต้องรอ ครม. ซึ่งไม่ทราบว่ารัฐบาลรักษาการจะทำอะไรได้บ้าง ขณะที่ ม.44 ที่ผ่านมาได้มีการเจรจาตกลงกันแล้ว แต่เสนอ ครม.มีการชักเรื่องเข้าออก 3-4 ครั้งเพราะมีมุมมองว่ายังขาดเอกสารรายละเอียดต่างๆ แต่ช่วงนั้น จริงๆ มี รมต.คมนาคมแย้งอยู่ วันนี้ไม่อยู่แล้ว เชื่อว่าคมนาคมอาจจะเข้าใจดีขึ้น หากรัฐบาลรักษาการจะทำเรื่องนี้ให้จบ หรือไม่ทำก็รอรัฐบาลหน้า

@ ทวงหนี้ค่าจ้างเดินรถ "สีเขียว" ฟ้องศาลแล้ว 2 คดี มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี กล่าวว่า จากที่บริษัทได้ยื่น ศาลปกครองกลาง ฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) กรณีติดค้างหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยอดแรก มูลหนี้ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำตัดสิน อยู่ในขั้นตอน กทม. และเคทีอุทธรณ์ คาดว่าในเดือน ก.ค. 2566 ศาลจะยุติการแสวงหาข้อเท็จจริง แต่เนื่องจากค่าเดินรถและดอกเบี้ยยังเพิ่มอยู่ตลอด ดังนั้น บริษัทจะยื่นฟ้องคดีที่ 2 มูลหนี้อีกประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศาลปกครองชั้นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น