xs
xsm
sm
md
lg

ช่อง 3 เดินเกม IMC Content จับตาดิจิทัลไลเซนส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ผ่านมาแล้ว 10 ปีทีวีดิจิทัล แต่ยังเหลืออีก 5 ปีที่ต้องฝ่าฟัน จากนั้นใบอนุญาตจะยังจำเป็นอยู่หรือไม่นะ? ในเมื่อวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในแง่เทคโนโลยีและพฤติกรรมการดูทีวี แล้วสมรภูมิทีวีจะขีดเส้นไปในทิศทางใด กดรีโหมด เปิด “ช่อง 3” หลังกลับมายืนได้มั่นคง จากนี้ขอเป็นมากกว่าสถานีโทรทัศน์ สู่การเป็น Total Entertainment Company ด้วยการเป็นผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ ชู “ละคร” คือขุมทรัพย์ ขับเคลื่อนสร้างรายได้ทุกช่องทาง มั่นใจรายได้จะกลับมาที่ 10,000 ล้านบาทได้อีกครั้ง


ทีวีดิจิทัล ปีนี้ก้าวสู่ปีที่ 10 แล้ว จากมูลค่าสื่อทีวีจากปี 2556 สูงถึง 77,000 กว่าล้านบาท ล่าสุดในปี 2565 ลดลงเหลือ 62,664 ล้านบาท จะเห็นได้ว่านอกจากเม็ดเงินรวมในสื่อทีวีจะหายไปร่วม 15,000 ล้านบาทแล้ว ในแง่ของผู้เล่น คือ สถานีโทรทัศน์กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่มีเพียง 4-5 ช่อง กลายเป็นมากกว่า 10 ช่อง ทำให้รายได้ของแต่ละสถานีทำได้ต่ำกว่าที่เคยมองกันไว้ บวกกับมีคู่แข่งต่างแพลตฟอร์ม คู่แข่งจากสื่ออื่นๆ เข้ามาแย่งเม็ดเงินอีก การที่จะเข็นธุรกิจทีวีให้อยู่รอดและกลับมารุ่งโรจน์อย่างวันวานได้อีกครั้งนั้น วันนี้ทีวีจึงต้องเป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว สอดคล้องกับข้อมูลจากทาง Nielsen Advertising Information Service ที่เก็บสถิติไว้พบว่า สื่อทีวี ปี 2560-2565 มีมูลค่าดังนี้

1. ปี 2560 สื่อทีวี มีมูลค่า 65,755 ล้านบาท
2. ปี 2561 สื่อทีวี มีมูลค่า 70,364 ล้านบาท
3. ปี 2562 สื่อทีวี มีมูลค่า 70,337 ล้านบาท
4. ปี 2563 สื่อทีวี มีมูลค่า 63,140 ล้านบาท
5. ปี 2564 สื่อทีวี มีมูลค่า 63,649 ล้านบาท
6. ปี 2565 สื่อทีวี มีมูลค่า 62,664 ล้านบาท


อย่างไรก็ตาม ตลอด 10 ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้แบกรับต้นทุนเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) ซึ่งยังเหลืออีก 5 ปี หรือจะหมดสัญญาลงในปี 2572 นั้น ถึงเวลานั้นแล้วใบอนุญาตยังจำเป็นอยู่หรือไม่? ในวันที่เทคโนโลยีเกี่ยวกับการผลิตคอนเทนต์และการแพร่ภาพเปลี่ยนไป พฤติกรรมผู้ชมเองก็เปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน ดูคอนเทนต์จากทีวีลดลง แต่ดูจากแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นแทน

“อีก 5 ปีข้างหน้าไม่แน่ใจว่าถึงเวลานั้นใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลยังจำเป็นหรือไม่ เพราะปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีการผลิตสื่อหรือคอนเทนต์นั้นใช้ระบบเอชดี และฟูลเอชดี และ 4K ไปหมดแล้ว แต่หลายๆ ช่องกลับต้องแปลงไฟล์ให้เป็นระบบ SD เพื่อออกอากาศ เพราะได้ใบอนุญาตแบบ SD มา บวกกับภูมิทัศน์สื่อทีวีเปลี่ยนไป คนดูทีวีน้อยลง แต่ดูผ่านออนไลน์มากขึ้นแทน มองว่าถึงเวลานั้นต้องดูหลายๆ อย่างประกอบกัน สุดท้าย หากต้องมีใบอนุญาตก็ต้องมี เพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป” สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กุนซือช่อง 3 กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ทางสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้จัดเวทีเสวนาขึ้น ในหัวข้อ "อนาคตคนสื่อทีวิดิจิทัล หลังใบอนุญาตหมดอายุ" โดยเฉพาะในประเด็น ใบอนุญาตที่เหลืออยู่ว่าหลังจากครบ 15 ปีแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไปนั้น


ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้กล่าวไว้ว่า สำหรับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะหมดในปี 2572 มีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือ การจัดสรรคลื่นความถี่ กับความยั่งยืนของโทรทัศน์ภาคพื้นดิน คือการปรับเปลี่ยนสู่ 4k และผลกระทบต่อการจัดสรรคลื่น การเคลื่อนย้ายแพลตฟอร์ม การหดตัวหรือค่อยหายไปของโทรทัศน์ภาคพื้นดิน แนวโน้มของการลดย่านความถี่ ความเป็นไปได้ในการแทนที่ระบบทีวีดิจิทัล และความท้าทายเชิงเทคโนโลยีกับการเข้าถึงเนื้อหาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ตามพฤติกรรมของคนดูหรือเทคโนโลยีในปัจจุบันหรืออนาคต

ทั้งนี้ มองว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่ใบอนุญาตผู้ประกอบการจะมีจำนวนลดลง ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อจะต้องมีการเพิ่มทักษะให้ครอบคลุมสามารถทำได้หลายๆ อย่างเพื่อให้สามารถทำวิชาชีพนี้ต่อไปได้ ระหว่างนี้สื่อมวลชนจะต้องปรับตัวหลายอย่าง ทั้งทักษะความรู้ความสามารถของตัวเอง รวมถึงการศึกษาความนิยมของคนดูในยุคปัจจุบันจึงต้องอาศัยการปรับตัวทั้งหมดเลย

“ในอนาคตหากใบอนุญาตทีวีดิจิทัลหมดลงในปี 2572 ก็ยังไม่ได้ผลสรุปว่าจะมีการออกใบอนุญาตด้วยการเปิดประมูลหรือไม่อย่างไร ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการปรับเปลี่ยนรูปแบบกฎหมาย หากต้องเปิดรับจะต้องหาคนที่เป็นมืออาชีพและคนที่เป็นตัวจริงในวงการสื่อในการรับใบอนุญาต โดยส่วนตัวมองว่าไม่เห็นด้วยกับการเปิดประมูลใบอนุญาตในรูปแบบเดิม” ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว


**ช่อง 3 ชู “ละคร” ขุมทรัพย์สู่อนาคต
อนาคตทีวีดิจิทัลจะเป็นอย่างไร อีก 5 ปีก็ถึงตอนจบที่จะเฉลยทุกข้อสงสัย แต่สำหรับอนาคตของช่อง 3 หลังต้องมรสุมจนกลับมาตั้งหลักได้แล้วในวันนี้ พร้อมชู “ละคร” เป็นเรือธงที่พร้อมทำรายได้ในทุกรูปแบบ พร้อมต่อยอดสร้างรายได้ไปสู่ธุรกิจอื่นๆ

นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหาร ช่อง 3 เอชดี เปิดเผยว่า ตลอด 3 ปีที่กลับเข้ามาดูภาพรวมให้กับทางช่อง 3 ได้ปรับแนวทางธุรกิจใหม่ จากเดิมเป็นเพียงสถานีโทรทัศน์ จากนี้พร้อมเดินหน้าสู่ความเป็น Total Entertainment Company ในการเป็นผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ ภายใต้กลยุทธ์ซิงเกิลคอนเทนต์ แต่ไปได้ในหลายแพลตฟอร์ม กล่าวคือ เป็นการลงทุนผลิตคอนเทนต์เพียงครั้งเดียว แต่สามารถหารายได้ได้หลายแพลตฟอร์มและหลายช่องทาง โดยเฉพาะ “ละคร” ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของช่อง 3


โดยรูปแบบการผลิตละครของช่อง 3 จากนี้ต้องทำให้เป็น IMC คอนเทนต์ กล่าวคือ ต้องสร้างรายได้ตั้งแต่เริ่มโปรเจกต์ เช่น วางแผนให้ลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วม ไทอิน นำเสนอสินค้าหรือแบรนด์ได้ในเนื้อเรื่อง รวมถึงต่อยอดสร้างรายได้ในธุรกิจอิ่นๆ เช่น บริหารดาราศิลปิน อย่าง การเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า ออกอีเวนต์ และเพลง รวมถึงการขายลิขสิทธิ์ไปยังต่างประเทศ และสตรีมมิ่งแพลตฟอร์มการรับชมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เน็ตฟลิกซ์, WeTV และอื่นๆ เป็นต้น

“ช่อง 3 มีความพยายามปรับแผนงานผลิตคอนเทนต์ละคร ให้อยู่ภายใต้โมเดล IMC คอนเทนต์ ซึ่งตอนนี้น่าจะทำได้ในละครเรื่อง เกมรักทรยศ เป็นการหารายได้จากการลงทุนผลิตละครตั้งแต่ต้นน้ำ ดึงไทอินสินค้าเข้ามาอยู่ในละคร วางแผนร่วมกับเจ้าของสินค้าตั้งแต่เริ่มที่จะผลิตละครเรื่องนั้นๆ ซึ่งโมเดลนี้จะต่อยอดรายได้ไปส่วนอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เพลง, ดูแลศิลปิน และการเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า เป็นต้น เห็นได้จากละครเรื่อง หมอหลวง ถือเป็นละครที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในรอบ 3 ปีนี้ของช่อง 3 และรายได้จากหมอหลวง เทียบกับละครปกติสูงขึ้น 40%” นายสุรินทร์กล่าว


อย่างไรก็ตาม ละครที่ผลิตขึ้นในปัจจุบันมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1. บทประพันธ์ ซึ่งปัจจุบันถือว่าสร้างกันมาเกือบหมดแล้ว จนมีการรีเมกกันบ่อยครั้ง 2. สร้างขึ้นมาใหม่ โดยดึงเอาคนเขียนบทมาร่วมสร้างเนื้อหาร่วมกับทีมงาน ข้อดีคือ ทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน และ 3. การซื้อลิขสิทธิ์ต่างประเทศ ซึ่งรูปแบบนี้การันตีความนิยมและรายได้ได้ในระดับหนึ่งเพราะถือเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมในระดับโกลบอลอยู่แล้ว เช่น เกมรักทรยศ ที่ทางช่อง 3 นำมาสร้างและจะลงจอช่วงปลายปีนี้ โดยดัดแปลงจากละครโทรทัศน์อังกฤษ เรื่อง ด็อกเตอร์ฟอสเตอร์

ขณะที่ในปีนี้ช่อง 3 ยังคงใช้งบ 2,000-3,000 ล้านบาท เท่าปีก่อนๆ สำหรับผลิตละครกว่า 25 เรื่อง โดยครึ่งปีแรกได้ “หมอหลวง” ที่สามารถทำเรตติ้งเฉลี่ย 6.7-6.8 และมีความนิยมสูง นำมาซึ่งรายได้อื่นๆ รวมถึงรายได้จากแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย ส่วนครึ่งปีหลังน่าจะมีละครที่น่าจะได้รับเรตติ้ง ความนิยม หรือหารายได้เหมือนกันกับหมอหลวงได้อีก 2 เรื่อง คือ พรหมลิขิต ที่น่าจะลงจอราวต้นเดือน ต.ค.นี้ และอีกเรื่องคือ เกมรักทรยศ มั่นใจว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ภาพรวมรายได้ทั้งปีกลับมาโตตามแผนที่วางไว้


นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า ปีนี้ช่อง 3 ตั้งเป้ารายได้รวมเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งครึ่งปีแรกค่อนข้างต่ำกว่าที่วางไว้ ขณะที่สถานการณ์ของครึ่งปีหลัง ต้องดูปัจจัยต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะการเมืองว่าจะออกมาในทิศทางใด จะถูกใจประชาชนหรือไม่ จึงตั้งเป้าว่าทั้งปีช่อง 3 น่าจะมีอัตราการเติบโตขึ้นอย่างน้อย 9-10% ขณะที่ปี 2565 ปิดรายได้ที่ 5,114.7 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับปี 2564

ทั้งนี้ หากย้อนรายได้ช่อง 3 (ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ช่อง 3) ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า


1. ปี 2556 รายได้ 16,697 ล้านบาท กำไร 5,589 ล้านบาท
2. ปี 2557 รายได้ 16,381 ล้านบาท กำไร 4,415 ล้านบาท
3. ปี 2558 รายได้ 16,018 ล้านบาท กำไร 2,983 ล้านบาท
4. ปี 2559 รายได้ 12,534 ล้านบาท กำไร 1,218 ล้านบาท
5. ปี 2560 รายได้ 11,226 ล้านบาท กำไร 61 ล้านบาท

6. ปี 2561 รายได้ 10,486 ล้านบาท ขาดทุน 330 ล้านบาท
7. ปี 2562 รายได้ 8,751 ล้านบาท ขาดทุน 397 ล้านบาท
8. ปี 2563 รายได้ 5,908 ล้านบาท ขาดทุน 214 ล้านบาท
9. ปี 2564 รายได้ 5,680 ล้านบาท กำไร 761 ล้านบาท
10.ปี 2565 รายได้ 5,114.7 ล้านบาท กำไร 607 ล้านบาท










กำลังโหลดความคิดเห็น