xs
xsm
sm
md
lg

“อมรินทร์” ยกเครื่องขยายตลาด ทุ่มงบ 2.1 พันล้านแตกไลน์ธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - “อมรินทร์” เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ รับแผนขยายธุรกิจได้หลากหลายขึ้น ปักธงเป็นบริษัทด้านการสื่อสารแบบครบวงจร ภายใต้กลยุทธ์ Omni Media-Omni Channel ภายใต้การตั้งงบไว้ 2,100 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนใหม่ๆ ใน 3 ปีนี้ ตั้งเป้าปี 2568 รายได้แตะ 6,000 ล้านบาท หรือโตต่อเนื่อง 30% ทุกปี
 


นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้อมรินทร์มีแผนปรับเปลี่ยนแนวทางธุรกิจใหม่ เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อบริษัท จาก บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็น บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เพื่อตอกย้ำการเป็นธุรกิจที่เป็นมากกว่า พริ้นติ้ง หรือพับลิชชิ่ง โดยหลังจากนี้ได้วางตัวเองเป็นองค์กรอันดับ 1 ด้านการสื่อสารแบบครบวงจร ผ่านโมเดลธุรกิจที่เป็นกลยุทธ์หลัก Omni Media - Omni Channel ครอบคลุมสื่อมากที่สุดในประเทศ ด้วยการผนึกรวมทุกภาคส่วนในเครือ ทั้ง On Print, Online, On Ground, On Air และ On Shop ผสานรวมกันเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยความครอบคลุมนี้ถือเป็นจุดแข็งและกลยุทธ์สำคัญในการเดินหน้าทำธุรกิจของอมรินทร์กรุ๊ป

ปัจจุบันอมรินทร์กรุ๊ปได้แบ่งธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่มธุรกิจหลัก และ 2 ธุรกิจที่ร่วมทุน ประกอบด้วย 1. ธุรกิจมีเดียแอนด์อีเวนต์ ธุรกิจที่ประสานกับสื่อนิตยสาร สื่อออนไลน์ ไปจนถึงธุรกิจจัดงานแฟร์และอีเวนต์ ที่จะช่วยให้ลูกค้าของอมรินทร์ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. ธุรกิจสำนักพิมพ์ เป้าหมายเพิ่มจำนวนการผลิตหนังสือเล่มประมาณ 500 ปก และหนังสือดิจิทัลประมาณ 770 เรื่องต่อปี อำนวยความสะดวกให้ลูกค้า โดยสามารถเลือกรูปแบบการอ่านได้มากมายทั้งการอ่านหนังสือ อ่านแบบดิจิทัล หรือจะออดิโอ Multi-platform ในรูปแบบที่ให้ประสบการณ์ที่ดีที่สุด และมุ่งขยายความหลากหลายของคอนเทนต์เพื่อเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย สร้างสังคมแห่งการอ่านให้ประเทศไทย


3. ธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจการพิมพ์ที่ให้บริการได้ตั้งแต่การพิมพ์หนังสือเล่มเดียวไปจนถึงหลักล้านเล่ม นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาไปที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้สัญลักษณ์ AM GREEN 4. ธุรกิจจัดจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ และ Digital Content โดยบริษัทอมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ที่มีเครือข่ายร้านพันธมิตรมากกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ และธุรกิจค้าปลีกอย่างร้านนายอินทร์ และแพลตฟอร์มดิจิทัล ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 26 ล้านรายต่อปี และมีแพลตฟอร์มใหม่อย่าง Mareads ที่สามารถอ่านนิยายเป็นตอนๆ มาให้บริการ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ช่วยในการขยายฐานการอ่านและรองรับกลุ่มลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. ธุรกิจทีวีดิจิทัล โดยบริษัทอมรินทร์เทเลวิชั่น จำกัด ช่อง AMARIN TV 34HD เป็นสื่อทีวีดิจิทัลที่ยังรักษาความนิยมของผู้ชมทั่วประเทศอยู่ใน TOP 7 ที่มีครบทุกแพลตฟอร์ม มีรายการที่มีคุณภาพครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและเข้าถึงผู้ชมทั่วประเทศ ด้วยการเชื่อมต่อประสบการณ์อันหลากหลายผ่านทั้งช่องทาง On Air และ Online ในทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงผ่าน 34HD App ที่จะสามารถรับชมรายการผ่านอุปกรณ์ หรือ Device ต่างๆ ได้เข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น ทำให้ปัจจุบัน Amarin TV 34HD สามารถเข้าถึงผู้ชมทั่วประเทศเฉลี่ย 10 ล้านคนต่อวัน และมีผู้ติดตามในสื่อออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มมากกว่า 42 ล้านคน


ส่วน 2 บริษัทที่อมรินทร์ถือหุ้นร่วม คือ บริษัทคาโดคาวะ อมรินทร์ จำกัด เป็นผู้นำในเรื่องของ Light NOVEL และ MANGA และบริษัท เด็กดี อินเตอร์ แอคทีฟ จำกัด ผู้นำตลาดนิยายและ Education Platform

นอกจากนี้ ทางบริษัทยังได้ตั้งงบลงทุนกว่า 2,100 ล้านบาท สำหรับใช้ในปี 2566-2568 โดยแบ่งเป็น 1. โอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ และจากการร่วมมือกับคู่ค้า 800 ล้านบาท 2. คอนเทนต์หนังสือ, ดิจิทัล, โทรทัศน์ ทั้งรูปแบบการซื้อลิขสิทธิ์ต่างประเทศ และสร้าง Local Content เพื่อพัฒนา Soft Power ให้กับประเทศไทย 600 ล้านบาท 3. Infrastructure เช่น การสร้างสตูดิโอใหม่, การพัฒนาพื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ 250 ล้านบาท


4. Technology เช่น AI, ML เพื่อต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ 250 ล้านบาท 5.  Packaging เครื่องจักรและเทคโนโลยีการพิมพ์รองรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 250 ล้านบาท 

สำหรับผลประกอบการในปี 2565 มีรายได้รวม 4,274.45 ล้านบาท เติบโตขึ้น 44.4% จากปีก่อน คิดเป็นจำนวนเงิน 1,313.84 ล้านบาท ซึ่งมีเหตุผลหลักมาจาก 1. รายได้จากธุรกิจผลิตงานพิมพ์และจำหน่ายหนังสือมีการเติบโตถึงร้อยละ 91.5 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 โดยมาจากการขยายตัวของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และการเติบโตของธุรกิจการจัดจำหน่ายหนังสือเล่มผ่านหน้าร้านหนังสือต่างๆ โดยเฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 83.4 

2. รายได้จากธุรกิจมีเดียและอีเวนต์ รวมการให้บริการโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ และการจัดงานแสดงสินค้าและอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งในปี 2565 มีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 72.9 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 โดยเฉพาะรายได้จากการจัดงานแสดงสินค้าที่เติบโตถึงร้อยละ 147.6 ที่ดำเนินการจัดงานแสดงสินค้าได้ใกล้เคียงกับแผนงานที่วางไว้ทั้งงานบ้านและสวนแฟร์ที่มีการจัดงานถึง 3 ครั้ง กับงานอมรินทร์ เบบี้ แอนด์ คิดส์ แฟร์ ที่มีการจัดงานในระหว่างปีถึง 4 ครั้ง รวมทั้งงานอื่นๆ

3. รายได้จากธุรกิจสื่อทีวีดิจิทัล ที่ยังคงรักษาระดับรายได้ไว้ได้ แม้ว่ายอดในการซื้อสื่อทีวีดิจิทัลในอุตสาหกรรมจะมีมูลค่ารวมที่ลดลง แต่บริษัทยังมีรายได้ 1,287.33 ล้านบาท ใกล้เคียงกับรายได้ในปี 2564 ที่มีรายได้ 1,282.36 ล้านบาท 

“แผนการดำเนินงานตลอด 3 ปี นับจากนี้ ตั้งเป้าการเติบโตปีละ 30% หรือภายในปี 2568 คาดว่าจะมีรายได้รวมแตะ 6,000 ล้านบาท จาก 5 กลุ่มธุรกิจที่เชื่อว่ามีแนวโน้มการเติบโตใกล้เคียงกัน ขณะที่ธุรกิจหนังสือหรือสิ่งพิมพ์ทำรายได้เป็นอันดับ 1 ในปีนี้” นางระรินกล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น