xs
xsm
sm
md
lg

WHAUP จ่อ M&A โรงไฟฟ้าลมเวียดนาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



WHAUP สบช่องลุย M&A โรงไฟฟ้าพลังลมที่ COD แล้วในเวียดนาม รวมทั้งเร่งลงทุนโซลาร์รูฟท็อปในปีนี้ มั่นใจปีนี้มีโครงการโรงไฟฟ้าที่ทยอยเซ็นสัญญา PPA ไม่ต่ำกว่า 150 เมกะวัตต์จากปัจจุบัน 699 เมกะวัตต์ อัดงบลงทุน 5 ปีนี้ 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจน้ำ-ไฟฟ้าเพิ่ม ดันรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปีแตะ 2.7 หมื่นล้านบาท

นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทแสวงหาโอกาสการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในประเทศเวียดนาม โดยอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเข้าซื้อกิจการ (M&A) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) แล้ว รวมทั้งโครงการโซลาร์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) คาดว่าปีนี้จะปิดดีล M&A ได้อย่างน้อย 1 ดีล

การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวบริษัทมองโครงการขนาดกำลังการผลิต 50-100 เมกะวัตต์ (MW) โดยเห็นว่าการทำ M&A จะเป็นการเปิดทางให้บริษัทมีโอกาสเข้าลงทุนโครงการใหม่ (Greenfield) ในเวียดนามในอนาคต เนื่องจากแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (PDP 8) ปี 2564-2573 ของเวียดนามนั้น ทางรัฐบาลมีแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตประเทศเป็น 1.5 แสนเมกะวัตต์ภายในปี 2573 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตประมาณ 5-7 หมื่นเมกะวัตต์ บริษัทจึงมองแผน PDP 8 เป็นโอกาส โดยบริษัทสนใจเข้าลงทุนโครงการโซลาร์รูฟท็อปให้กับโรงงานขนาดใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบขายตรง (Private PPA) และโรงไฟฟ้าพลังงานลมติดตั้งบนพื้นดิน (Onshore) ในเวียดนาม

ส่วนการลงทุนธุรกิจน้ำในประเทศเวียดนามที่บริษัทดำเนินการอยู่ 3 โครงการนั้น คาดว่าปีนี้มียอดจำหน่ายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 33 ล้านลูกบาศก์เมตร สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นผลมาจากการขยายฐานลูกค้าและพื้นที่ให้บริการน้ำประปาที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

นายสมเกียรติกล่าวว่า ในปี 2566 บริษัทมีรายได้เติบโตขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,671 ล้านบาท มาจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จะทยอยจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งตามแผนจะมีโครงการโซลาร์รูฟท็อปในประเทศไทยเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า 30 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รวมทั้งหมด 699 เมกะวัตต์ โดยปีนี้จะมีกำลังการผลิตโครงการโรงไฟฟ้าที่รอเซ็นสัญญา PPA เพิ่มขึ้นอีกกว่า 150 เมกะวัตต์ (ไม่รวมโครงการ M&A) ได้แก่ โครงการที่บริษัทได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พัฒนาโครงการโซลาร์ฟาร์ม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) จำนวน 5 โครงการ รวม 125.4 เมกะวัตต์ และโซลาร์รูฟท็อปอีกประมาณ 25 เมกะวัตต์

ธุรกิจสาธารณูปโภคในปีนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภัณฑ์และโซลูชันให้มากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมูลค่าเพิ่ม และได้มีการตั้งเป้ายอดการจำหน่ายและบริหารจัดการน้ำทั้งหมดที่ระดับ 168 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้นจาก 145 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2565 แบ่งเป็นการเติบโตของยอดจำหน่ายน้ำและบริหารจัดการน้ำภายในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 135 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2566 ภายใต้ปัจจัยขับเคลื่อนจากการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้น้ำของลูกค้า ทั้งจากลูกค้าเดิม และลูกค้าใหม่ที่ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายน้ำในปี 2565 รวมทั้งสิ้น 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้ บริษัทยังมีการดำเนินการในโครงการโรงผลิตน้ำและโรงบำบัดน้ำเสีย เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมฯ

ทั้งนี้ บริษัทวางแผนการดำเนินงาน 5 ปี (ปี 2566-2570) มีรายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติรวม 5 ปีที่ 2.7 หมื่นล้านบาทในปี 2570 หรือโตเฉลี่ย 20% ต่อปี ซึ่งในปีนี้ก็มีโอกาสที่รายได้ของบริษัทจะเติบโตมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปี 2565 บริษัทได้รับผลกระทบจากราคาก๊าซฯ แพง แต่ในปีนี้ราคาก๊าซฯ อ่อนตัวลง นอกจากนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนภายใน 5 ปีนี้อยู่ที่ 1.85 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วน 70% ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับธุรกิจน้ำ คิดเป็นประมาณ 30% เพื่อรักษา EBITDA Margin ไม่น้อยกว่า 50%


กำลังโหลดความคิดเห็น