กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจับมือหน่วยงานพันธมิตรลงพื้นที่ จ.ปัตตานี ติวเข้มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการกว่า 150 คน เรียนรู้การทำตลาด การใช้ประโยชน์จาก FTA ส่งออก พร้อมนำกูรูช่วยวิเคราะห์สินค้า แนะนำการพัฒนาสินค้าให้โดนใจผู้บริโภค และลงพื้นที่พบปะผู้ผลิตอาหารทะเล ประมง และผ้าบาติก ก่อนคัดนำร่วมงาน FTA Fair เปิดตัวออกสู่ตลาดทั้งใน และต่างประเทศ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา “ชี้ช่องใช้ประโยชน์ FTA ขยายการส่งออกสินค้าของดีปัตตานีไปตลาดอาเซียน” ภายใต้โครงการการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน ณ โรงแรม ซี.เอส. ปัตตานี ว่า กรมฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และสำนักงานสภาเกษตรกร จัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องความตกลงการค้าเสรี (FTA) กฎระเบียบทางการค้า กลยุทธ์การทำตลาด และแนวโน้มตลาดต่างประเทศ ให้แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรกว่า 150 ราย เพื่อแนะนำการขยายตลาดต่างประเทศ และการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออก
ทั้งนี้ ในช่วงการจัดสัมมนายังได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานนำสินค้ามาจัดแสดงและจำหน่าย โดยมีสินค้าสำคัญ เช่น ผ้าบาติก ข้าวเกรียบปลา ลูกหยี น้ำผึ้งชันโรง และขิงผง และได้ให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยวิเคราะห์ และแนะนำการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อนำไปปรับใช้ในการผลิตและการทำตลาดต่อไปด้วย
นางอรมนกล่าวว่า กรมฯ ยังได้ลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อรับฟังข้อมูลการผลิตและจำหน่ายสินค้า เช่น ผู้ประกอบการแพปูโชคอุดมรัชฏ์ เป็นผู้ผลิตสินค้าปูม้าต้มสุกพรีเมียม และเนื้อปูม้าก้อนพาสเจอไรซ์บรรจุกล่อง ซึ่งทำการประมงที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายระบบนิเวศ ผู้ประกอบการข้าวเกรียบปลาหรือกรือโป๊ะแบรนด์นัสรีน เป็นผู้ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์จนสามารถส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นได้สำเร็จ และวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ ทั้ง Big C , Max Value , TOPs และ 7-11 วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปลากุเลาเค็ม มีกระบวนการผลิตเป็นเอกลักษณ์ มีรสชาติดี ไม่มีสารเจือปน และจำหน่ายสินค้าได้กิโลกรัมละ 1,300 บาท ถือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และกลุ่มผ้าบาราโหมบาติก โดยมีการดัดแปลงลวดลายจากเครื่องกระเบื้อง ถ้วยชามโบราณ ย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาสูง และวางจำหน่ายบนเว็บไซต์ของสายการบินไทยได้
“กรมฯ มีแผนจะนำสินค้าที่มีศักยภาพของจังหวัดปัตตานีเข้าร่วมจำหน่ายในงาน FTA Fair นำสินค้าไทยสู่ตลาดการค้าเสรี ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ส.ค. 2566 นี้ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าแบบปลีกให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งการจับคู่ธุรกิจกับห้างโมเดิร์นเทรดและคู่ค้าในต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จาก FTA ซึ่งปัจจุบันคู่ค้า FTA ส่วนใหญ่ ทั้งอาเซียน จีน ออสเตรเลีย และฮ่องกง ได้ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยแล้ว” นางอรมนกล่าว
ในปี 2565 ไทยส่งออกปูสด แช่เย็นแช่แข็ง นึ่งหรือต้ม และปูกระป๋อง ไปตลาดโลก มูลค่า 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น จีน ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ส่งออกข้าวเกรียบที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนผสมและปลาปรุงแต่ง มูลค่า 103 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น จีน ออสเตรเลีย และกัมพูชา ส่งออกปลาแห้งใส่เกลือหรือรมควัน มูลค่า 52.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ญี่ปุ่น ศรีลังกา และสหรัฐฯ และส่งออกผ้าผืน โดยเฉพาะบาติก มูลค่า 0.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น อินเดีย ปากีสถาน และเวียดนาม