สนค.ชี้แนวโน้มการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เผยมีผลสำรวจชี้ชัดนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม หนุนเศรษฐกิจชุมชน สนใจวัฒนธรรมท้องถิ่น แนะชุมชนนำจุดเด่นเล่าเรื่องเป็นจุดขาย นำ BCG ใช้ในการทำธุรกิจ พร้อมยกตัวอย่างวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก และวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเมืองเก่าเป็นต้นแบบ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการศึกษาแนวโน้มการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) พบว่ามีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังมีผลสำรวจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดย Sustainable Travel Study 2022 ของ Expedia Group และ Wakefield Research ที่สำรวจนักท่องเที่ยวอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 11,000 คน จาก 11 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก บราซิล สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย อินเดีย จีน และญี่ปุ่น พบว่านักท่องเที่ยวที่ใช้เกณฑ์เรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องหลักในการตัดสินใจท่องเที่ยวมีสูงถึง 90% นักท่องเที่ยวมองหาทริปที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมีถึง 69% นักท่องเที่ยวต้องการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชนมีถึง 66% และนักท่องเที่ยวสนใจวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นชุมชนมีถึง 65%
“จากแนวโน้มการเติบโตของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนดังกล่าว ถือเป็นโอกาสในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยงแบบยั่งยืนของไทย โดยวิสาหกิจชุมชนภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทย มีจุดเด่นด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ยาวนาน มีคุณค่าต่อการสืบทอด ควรนำจุดเด่นต่างๆ มาเล่าเรื่อง (Story Telling) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการสร้างความน่าสนใจ ทำให้จุดหมายปลายทางเป็นที่รู้จัก อีกทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่และชุมชน และควรมีการปรับตัวต่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เช่น คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความยั่งยืนระยะยาว โดยการนำโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Model) มาปรับใช้ในกิจกรรมการท่องเที่ยว เพื่อตอบสนองพฤติกรรม ค่านิยม และเทรนด์การท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ซึ่งเป็นโอกาสที่จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับชุมชน รวมทั้งต้องจัดโปรแกรมท่องเที่ยวเอาใจนักท่องเที่ยว กลุ่ม Baby Boomer พร้อมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างรายได้ เกิดการจ้างงานในชุมชน และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจฐานราก” นายพูนพงษ์กล่าว
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ในปีนี้ สนค.ได้ดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการยกระดับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึกและรวบรวมข้อมูลวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ใน 4 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกวิสาหกิจชุมชน จำนวน 20 กลุ่ม ทั้งภาคการผลิตสินค้า และภาคบริการ จากการลงพื้นที่ทำให้พบว่ามีวิสาหกิจชุมชน ที่นำแนวคิดเรื่องความยั่งยืนมาประยุกต์ใช้จนประสบความสำเร็จ เช่น วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก จังหวัดกระบี่ เป็นวิสาหกิจชุมชนด้านบริการการท่องเที่ยวที่มีดินแดนทะเล 3 ด้าน วัฒนธรรม 3 สาย คือ ไทยพุทธ ไทยมุสลิม และไทยเชื้อสายจีน (บาบ๋าย่าหยา) มีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco Tourism) มีเส้นทางการการท่องเที่ยวใกล้ชิดธรรมชาติ ดูวิถีของชุมชน ชาวประมง นั่งเรือชมท้องทะเลและถ้ำ ควบคู่กับการให้ข้อมูลการอนุรักษ์ และการดูแลทรัพยากรชายฝั่ง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) ที่ให้นักท่องเที่ยวไหว้พระสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน (วัด ศาลเจ้าจีน) กิจกรรมระบายสีผ้าบาติก และมีโฮมสเตย์สำหรับให้นักท่องเที่ยวพัก นอกจากนี้ ยังมีการคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีการคัดแยกขยะในชุมชน และให้นักท่องเที่ยวสนับสนุนการซื้อคาร์บอนเครดิตให้กับชุมชนเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน (CO2) ที่เกิดจากการทำกิจกรรมท่องเที่ยวภายในชุมชนอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต เป็นกลุ่มบริการด้านการท่องเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน (local experience) มีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น เที่ยวชมอาคารบ้านเรือนเก่าแก่ ที่มีสถาปัตยกรรมแบบ “ชิโนยูโรเปียน” กิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำขนมอังกู๊ กิจกรรมทำผัดหมี่ฮกเกี้ยน ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นของชุมชนเมืองเก่าภูเก็ต และมีการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ในวิสาหกิจชุมชน โดยมีจุดเด่นด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ผ่านการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ โดยเก็บข้อมูลจุดที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว และนำมาวางแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามจุดต่าง ๆ และจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมตู้สมทบชดเชยคาร์บอนโดยสมัครใจให้นักท่องเที่ยวได้บริจาคสมทบการชดเชยการปล่อยคาร์บอน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักรู้เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับนักท่องเที่ยว
“แนวโน้มของผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญแก่การผลิตและบริโภคที่จะกระทบถึงธรรมชาติ ส่งผลให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยเปลี่ยนไป การผลิตสินค้าและบริการภายใต้แนวคิด BCG จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความใส่ใจในเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ โมเดลเศรษฐกิจ BCG มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสอดรับกับหลักการของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนของประเทศไทย” นายพูนพงษ์กล่าว