xs
xsm
sm
md
lg

กรมโรงงานฯ โชว์ผลงาน“เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ”สู่ต้นแบบ ‘เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม’ครบ 54 พื้นที่ 39 จังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ปลื้ม ! ผลงานเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ สร้างงาน สร้างอาชีพ กว่า 300 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย BCG เต็มสูบ! ส่งเสริมเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่รักษาสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ 4 มิติ MIND

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้ดำเนินการตามแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่ที่มีการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) เพื่อสร้างต้นแบบ ‘เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม’ ที่มีเศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี สังคมมีความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความสุขและอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย BCG Model (Bio Circular Green Economy) ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การหมุนเวียนทรัพยากร และการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นายจุลพงษ์ฯ กล่าวต่อว่า ปี 2566 กรอ. ได้เดินหน้าประกาศพื้นที่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 3 ใน 21 พื้นที่ใหม่ 20 จังหวัดใหม่ หลังประสบความสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระยะที่ 1 และ 2 รวมเป้าหมายการพัฒนาทั้ง 3 ระยะ 54 พื้นที่ 39 จังหวัด ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ มีพื้นที่ที่ผ่านเกณฑ์การพัฒนาระดับที่ 4 (การพึ่งพาอาศัย) 4 พื้นที่ ระดับที่ 3 (ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร) 14 ที่เหลืออีก 36 พื้นที่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาเข้าสู่ระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศต่อไป

สำหรับผลงานในปี 2565 เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เป็นแหล่งสร้างความสำเร็จในการสร้างงาน สร้างอาชีพ คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ยกระดับรายได้และพัฒนาความเป็นอยู่ของกลุ่มชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้านหรือวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่กว่า 400 กลุ่ม มุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติของกระทรวงอุตสาหกรรม ครอบคลุมความสำเร็จทางธุรกิจ การดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน”

“กรอ. ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอย่างต่อเนื่อง ใน 54 พื้นที่ 39 จังหวัด โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อมุ่งเป้าสู่ระดับที่ 5 ภายในปี 2580 เพื่อเป็นกรอบและทิศทางสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อีกทั้งสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมดำเนินงานเชื่อมโยงกับ BCG Model ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมสีเขียว (GI : Green Industry) โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน (CSR-DIW) เพื่อเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็น ‘เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม’ อย่างยั่งยืนต่อไป” นายจุลพงษ์ กล่าวปิดท้าย

นายณัฏฐพงษ์ จุลาเกตุโพธิชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ

เจ้าหน้าที่ให้ความรู้เรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม

ส่งเสริมสนับสนุนโครงการเศรษฐกิจหมุนเวียน


พื้นที่เป้าหมายการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 54 พื้นที่ 39 จังหวัด กำหนดแผนการพัฒนาออกเป็น
3 ระยะ ประกอบด้วย


ระยะที่ 1 จำนวน 18 พื้นที่ ใน 15 จังหวัด
ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ราชบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา


ระยะที่ 2 จำนวน 15 พื้นที่ใหม่ ใน 11 จังหวัดเดิม 4 จังหวัดใหม่
11 จังหวัดเดิม ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ราชบุรี
4 จังหวัดใหม่ ได้แก่ มุกดาหาร สระแก้ว ตาก และตราด

ระยะที่ 3 จำนวน 21 พื้นที่ใหม่ ใน 20 จังหวัดใหม่
จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พิษณุโลก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุดรธานี อุบลราชธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช กระบี่ และภูเก็ต

เกณฑ์การประเมินความเป็นเมืองอุสาหกรรมเชิงนิเวศ แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ดังนี้


ระดับที่ 1 ‘การมีส่วนร่วม’ (Engagement) การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการวางแผน ดำเนินการตามแผน ติดตามประเมินผล และปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ระดับที่ 2 ‘การส่งเสริม’ (Encourage) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้รองรับต่อแผนการพัฒนาที่ร่วมกำหนดไว้ โรงงานอุตสาหกรรมและประชาชนในพื้นที่สร้างความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ตนเอง

ระดับที่ 3 ‘ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร’ (Resource Efficiency) โรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างให้คุ้มค่า จัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดและป้องกันมลพิษ เกิดความเชื่อมั่น ความไว้วางใจให้กับชุมชน

ระดับที่ 4 ‘การพึ่งพาอาศัย’ (Symbiosis) โรงงานอุตสาหกรรมมีการพึ่งพาอาศัยกัน รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมไปส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่

ระดับที่ 5 ‘เมืองน่าอยู่ คู่อุตสาหกรรม’ (Happiness) เมืองต้นแบบมีเศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี สังคมมีความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความสุขและอยู่ร่วมกับอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น