xs
xsm
sm
md
lg

“วราวุธ” ประกาศความสำเร็จ ปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิต รับวันป่าชายเลนแห่งชาติ ดึงภาคประชาชนมีส่วนร่วม ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (27 พ.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า ป่าชายเลนนับว่าเป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหารแห่งท้องทะเล เป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของมนุษย์ที่สามารถนำมารับประทานและขายเป็นรายได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันคลื่นลมจากทะเลเป็นแนวกำบังภัยธรรมชาติ ช่วยป้องกันการพังทลายของชายฝั่งและรักษาสมดุลระบบนิเวศชายฝั่ง อีกทั้งยังเป็นแหล่งดูดชับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยมีเหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่เกิดจากการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ เช่น อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น เกิดแผ่นดินไหว ฝนตกน้ำท่วมฉับพลัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์พร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการคุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู ให้คงความสมบูรณ์เพิ่มพูนความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ ซึ่งการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนนับว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจาก ป่าชายเลนจะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญแล้ว ยังสามารถเอื้ออำนวยประโยชน์อื่นๆ ให้กับประชาชนในอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงจะสามารถเสริมสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน และส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

จากความสำเร็จที่ผ่านมา ทส. มุ่งมั่นในการเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน อาทิ โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดทำขึ้นร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) เพื่อให้ภาคเอกชนและชุมชนชายฝั่งเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกตามความสมัครใจ ปรับตัวสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยตั้งเป้าหมาย 10 ปี 300,000 ไร่ (พ.ศ. 2565-2574)

โดยตนพูดได้อย่างภาคภูมิใจเลยว่า ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือของพี่น้องประชาชนทุกคนที่ช่วยกันดูแล รักษา และฟื้นฟู จนผืนป่าชายเลนกลับคืนสภาพสมบูรณ์ในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 10 พฤษภาคม ของทุกปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้เป็น “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันอนุรักษ์และดูแลป่าชายเลน

ตนได้กำชับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแล ให้นำแนวพระราชดำรัสดังกล่าว เป็นหลักในการปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ควบคู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ทั้งนี้ ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่น้องประชาชนจะช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนให้คงความสมบูรณ์ และยั่งยืนเช่นนี้ ตลอดไป

สำหรับการจัดกิจกรรม “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ในปีนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน เพื่อให้ป่าชายเลนคงความสมบูรณ์ เป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติส่งต่อให้ลูกหลาน และเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และสนองพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่างร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมเพื่อปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ จนทำให้ป่าชายเลนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนไร่ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความท้าทายจากความต้องการใช้ที่ดินปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลน เมื่อปัญหาเกิดจาก “มนุษย์” ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะร่วมแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สำหรับปีนี้จะมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะเครือข่ายชุมชนชายฝั่งและอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานในท้องถิ่น ช่วยกันดูแลผืนป่าชายเลนจนทำให้จำนวนพื้นที่ป่าชายเลนในภาพรวมเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ตนได้ให้นโยบายกับนายอภิชัย เอกวนากุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ถึงแนวทางในการถอดบทเรียนจากกิจกรรมที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงการทำงานรวมถึงการพัฒนาศักยภาพและความรู้ของเจ้าหน้าที่ การหาพันธมิตรภาคเอกชนและสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูและดูแลป่าชายเลน เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับป่าชายเลน คืนแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไชด์ให้กับโลก ลดความรุนแรงของปัญหาโลกร้อน และยังสามารถเข้าโครงการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้ได้อีกทางหนึ่งอีกด้วย

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงป่าชายเลน ซึ่งถือเป็นระบบนิเวศสำคัญระบบหนึ่ง ที่จะต้องปกป้อง ดูแลรักษา และฟื้นฟูให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งประเทศไทยมีผืนป่าชายเลนสมบูรณ์กว่า 1.73 ล้านไร่ ที่ควรได้รับการปกปักรักษาฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ภายใต้การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ตามนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประโยชน์ในการสร้างรากฐานความมั่นคงด้านทรัพยากรธรรมชาติและด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไป

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จึงริเริ่ม “โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต” และ “โครงการป่าชายเลนสำหรับชุมชน” โดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนชายฝั่ง ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล ออกระเบียบในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ 2 ระเบียบ คือ ระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอก พ.ศ. 2565 จำนวน 14 ราย 41,031 ไร่ และระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต ที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับชุมชน พ.ศ. 2565 จำนวน 16 ชุมชน 29,253 ไร่ และยังมีอีก 22 เนื้อที่ 33,597 ไร่ ที่อยู่ระหว่างขึ้นทะเบียนกับกรม ทช.

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดในการดำเนินงาน กรม ทช. ได้ยึดหลักให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน มุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยกรม ทช. ได้จัดกิจกรรม “งานวันป่าชายเลนแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2566” ขึ้น ภายใต้คำขวัญ “ป่าชายเลนชุมชน คนดูแลป่า พัฒนาเศรษฐกิจ สร้างคาร์บอนเครดิต ลดวิกฤติโลกร้อน” เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของป่าชายเลนทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อเกิดประโยชน์แก่ทุกคนในชาติ โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมกันนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ตลอดจนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวง ทส. ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด สมาชิกป่าชายเลนสำหรับชุมชนในพื้นที่ฝั่งอันดามัน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ณ บ้านน้ำร้อน หมู่ 3 ตำบลห้วยน้ำขาว อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่

ทั้งนี้ ภายในงานได้มีการมอบหนังสืออนุมัติโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตสำหรับชุมชน แก่ผู้แทนชุมชน จำนวน 16 ชุมชน พิธีเปิดป้ายป่าชายเลนสำหรับชุมชน เนื้อที่ 894 ไร่ บ้านน้ำร้อน จ.กระบี่ ซึ่งถือเป็นการเปิดป่าชายเลนสำหรับชุมชนครั้งแรกของกรม ทช. นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมปลูกป่าชายเลนและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ อีกด้วย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จวบจนปัจจุบัน กรมฯ ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “งานวันป่าชายเลนแห่งชาติ” มาโดยตลอด ซึ่งทำให้เห็นว่าทุกภาคส่วนต่างมีแนวคิดที่ตรงกัน พร้อมเดินหน้าสนับสนุนการดำเนินโครงการ อีกทั้งร่วมกันสืบสานและต่อยอดในการดูแลรักษาทรัพยากรป่าชายเลนในประเทศให้คงความสมบูรณ์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับป่าชายเลน รองรับกับฐานเศรษฐกิจชุมชน เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับชุมชมท้องถิ่นได้อย่างพอเพียง สุดท้ายนี้ตนขอฝากถึงพี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วน ให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของพื้นที่ป่าชายเลน รวมถึงขอความร่วมมือในการช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์สามารถเอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

คุณมัทณา วิเชียรแก้วมณี กรรมการบริหารบริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า ในวันนี้ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลนในประเทศไทยให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ผ่านการมีส่วนร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และประชาชนชาวจังหวัดกระบี่ และจังหวัดพังงา โดยบริษัทฯ ได้มอบเงินสนับสนุนชุมชนในการร่วมพัฒนาโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตฯ ชุมชนละ 200,000 บาท จำนวน 14 ชุมชน นอกจากนี้บริษัท ยังจะได้สนับสนุนเงินให้ แก่ชุมชนในการร่วมดูแล รักษา และฟื้นฟู ป่าชายเลน ต่อเนื่อง 30 ปี อย่างไรก็ตาม บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี จำกัด ยังคงมุ่งมั่นและพร้อมขยายการสนับสนุนสู่ชุมชนอื่นๆ เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู บริการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนให้ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ผ่านการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนชุมชน รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพลิกฟื้นผืนป่าชายเลนให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไป




กำลังโหลดความคิดเห็น