xs
xsm
sm
md
lg

ม.สวนดุสิตและสถาบันอาศรมศิลป์และมหาวิทยาลัยกรุงเทพขับเคลื่อนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ วัฒนธรรมอาหารอยุธยาด้วยการฟื้นสำรับอยุธยาโบราณเพื่อสร้างกระแส Soft Power

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ม.สวนดุสิตและสถาบันอาศรมศิลป์และมหาวิทยาลัยกรุงเทพนำสื่อมวลชน บล็อกเกอร์ และ Influencers พาชิม ชอป ชม  ชิล ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมอาหารอยุธยา เมืองท่าแห่งอุษาคเนย์ ขับเคลื่อนสู่ Soft Power ประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของ บพข.และ ววน. ฟื้นเมนูอาหารสำรับโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นแห่งแรกในอยุธยา เพื่อนำเสนอเมนูสู่นักท่องเที่ยว ต่อยอดขนมหารับประทานยาก “ขนมหินฝนทอง” สู่ผลิตภัณฑ์ของฝากประจำจังหวัด พร้อมชมวิถีถิ่นทั้งตลาด ชุมชน นาข้าวอินทรีย์ นั่งเรือกระแชง นั่งตุ๊กตุ๊กหน้ากบ ปั่นจักรยาน ชมความงดงามอยุธยาเมืองมรดกโลก 

รศ.ดร.พรรณี สวนเพลง อาจารย์มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ได้จัดทริปนำคณะสื่อมวลชน บล็อกเกอร์ และ Influencers เข้าร่วมโปรแกรม Ayutthaya Gastronomy Media FAM Trip สู่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้กิจกรรม The Legendary Food Culture of Ayutthaya การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมอาหารในตำนานศรีอโยธยา เมืองท่าแห่งอุษาคเนย์ แผ่นดินทองแห่งความรุ่งเรืองบนรากฐานพหุวัฒนธรรม ต้นตำรับสยาม “วิเทศศาสตร์ โภชนศิลป์” 

โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมอาหาร” ที่ได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อมุ่งหวังโปรโมตวัฒนธรรมอาหารอยุธยาเมืองท่าแห่งอุษาคเนย์ (Ayutthaya Gastronomy) สู่ Soft Power ของประเทศไทย ซึ่งอาหารไทย (Food) ถือเป็น 1 ใน 5 F ของ Soft Power (F-Food อาหาร, F-Film ภาพยนตร์, F-Fashion แฟชั่น, F-Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย และ F-Festival เทศกาลประเพณีไทย) 

ทั้งนี้ ได้มีกระบวนการถอดรหัสภูมิปัญญาอัตลักษณ์อาหารอยุธยา รวมถึงการรื้อฟื้นเมนูอาหารสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งบางอย่างไม่สามารถหารับประทานได้แล้วในปัจจุบัน นำมาจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์เปิดประสบการณ์ “ป่าก์-ปรุง-ประวัติศาสตร์-ประทับใจ” ในอยุธยาเมืองมรดกโลก ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย 

ตามโปรแกรมได้เดินทางไปยังชุมชนบ้านเกาะเกิด เยี่ยมชมนาข้าวอินทรีย์ของนายธงธน ชัยดํารงชัย (หมอดินอาสา-นาสมเดช) ผู้ประกอบการด้านการเกษตร ศูนย์ถ่ายทอดพัฒนาที่ดิน พื้นที่เรียนรู้วิถีชีวิตของชุมชนต้นแบบที่ผสานปรัชญา มีปณิธานในการเดินตามแนวทางพระราชดําริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แหล่งเรียนรู้การทําเกษตรแบบผสมผสานที่สำคัญของอำเภอบางปะอิน

จากนั้นเดินทางไปยังบ้านนายสุชาติ พรรณธรรม เกษตรกรและปราชญ์ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาด้านวิถีชาวประมง และหลักความคิดเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบนวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น

สัมผัสวิถีชีวิตบ้านไทยริมน้ำภาคกลางของชาวอยุธยา ณ บ้านของนางสาวพรระวี พรรณไวย เจ้าของโฮมสเตย์บ้านเกาะเกิด ซึ่งเป็นอีกแห่งหนึ่งที่เป็นจุดตกกุ้งตกปลา เป็นแหล่งวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหารของชาวบ้านในชุมชน และเป็นสถานที่ที่สามารถทำกิจกรรมล่องเรือตกกุ้งได้ พร้อมร่วมทำกิจกรรม Thai Cooking Experience กับชาวบ้านที่โฮมสเตย์บ้านเกาะเกิด และรับประทานอาหารท้องถิ่น แกงเลียง น้ำพริก กุ้งแม่น้ำเผา ฯลฯ ที่ปรุงด้วยวัตถุดิบสดๆ จากแหล่งธรรมชาติในชุมชน

ต่อด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพ (นวดคลายเส้น) โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wellness Therapy) แวะท่องเที่ยววัดนิเวศธรรมประวัติ พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่อำเภอบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2421 เพื่อทรงใช้เป็นสถานที่สำหรับบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อเสด็จฯ แปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังบางปะอิน ใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมกอทิก แบบโบสถ์คริสต์ที่งดงามมาก

แล้วออกเดินทางจากโฮมสเตย์บ้านเกาะเกิด สู่เกาะเมืองอยุธยาด้วยเรือกระแชง พร้อมเสิร์ฟขนมพื้นบ้านและเครื่องดื่มบริการบนเรือ ชมวิวทิวทัศน์ วิถีชีวิตริมแม่น้ำประมาณ 2 ชั่วโมง ผ่านสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ป้อมเพชร วัดพนัญเชิง วัดพุทไธศวรรย์

แล้วมาขึ้นฝั่งที่ร้านเดอริว่า อโยธยา (De Riva Ayothaya) ร้านอาหารไทยฟิวชันบรรยากาศดี ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชมวิวสุดงดงามของโบสถ์เซนต์ยอแซฟ โบสถ์คริสต์แห่งแรกในประเทศไทย ศิลปะแบบฝรั่งเศส สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2209 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามร้านอาหาร

ณ จุดนี้ ชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า พร้อมรับประทานอาหาร “สำรับอยุธยาโบราณ” แห่งแรกและแห่งเดียวในอยุธยา อันได้แก่ มัสมั่นเนื้อน่องลาย ข้าวบุหรี่ (ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ) ต้มยำกุ้งจากน้ำต้มข้าว และขนมหินฝนทอง ซึ่งมีการเปิดตัวและนำเสนอเมนูแก่นักท่องเที่ยว โดยจะเปิดจำหน่ายในร้านเดอริว่า อโยธยา นับจากบัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จในการต่อยอดจากโครงการที่สร้างผลผลิตทางอาหารขึ้นมาจากงานวิจัย

โดยในช่วงรับประทานอาหาร ทางคณะผู้วิจัยนำทีมโดย อาจารย์สุรีย์พร ธัญญะกิจ แห่งมหาวิทยาลัยสวนดุสิต และเชฟโอ๊ต (คุณสุพรรษพงษ์ กุลชนะรมย์) เจ้าของร้านคั่วไก่ไอ้เครา จะเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวอาหารโบราณในแต่ละเมนู พร้อมสาธิตวิธีการทำ “ขนมหินฝนทอง” แก่สื่อมวลชน

หลังจากนั้นท่องเที่ยวในเส้นทางอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ในยามค่ำคืนที่มีการจัดแสดงแสง สี อันน่าประทับใจ ด้วยรถตุ๊กตุ๊กหน้ากบ ยานพาหนะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของอยุธยา แวะสัมผัสแหล่ง Food Street ที่มีชื่อของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ตลาดโต้รุ่งข้างองค์การโทรศัพท์ (ตลาดองค์การ) จากนั้นเข้าที่พักโรงแรม คลาสสิค คามิโอ อยุธยา

เช้าอีกวันเดินทางสู่บริษัท อยุธยา โบ๊ทแอนด์ทราเวล จำกัด ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบในพื้นที่ที่ได้รับรางวัลกินรีถึง 3 ครั้ง พร้อมร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานท่องเที่ยว อันเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และชมโบราณสถานที่สำคัญ เช่น ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา วัดพระศรีสรรเพชญ์ พระราชวังหลวง วัดมหาธาตุ (อันซีนเศียรพระในรากไม้) ฯลฯ

จากนั้นเข้าชมเครื่องทองและเครื่องประดับโบราณ ที่เก็บรักษาไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา ณ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเจ้าสามพระยา เดินทางสู่วัดสะแก กราบสักการะหลวงปู่ดู่ เกจิอาจารย์คนสำคัญแห่งเมืองกรุงเก่า ก่อนรับประทานก๋วยเตี๋ยวเรือโบราณแท้ๆ ที่ยังใช้เตาถ่านริมคลองข้าวเม่า แล้วต่อด้วย Walking Tour ที่ตลาดหัวรอ ตลาดเก่าแก่อายุกว่า 300 ปีที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เพื่อชมวิถีชีวิตและรากเหง้าวัฒนธรรมอาหารที่สืบทอดของชาวกรุงเก่า

ก่อนปิดท้ายที่ปรางค์วิวคาเฟ่ คาเฟ่สไตล์มินิมัล เครื่องดื่มต่างๆ ล้วนน่าดื่มมีการใส่โรตีซึ่งเป็นของหวานของอยุธยามาด้วย ที่นี่สามารถชมวิววัดราชบูรณะได้อย่างงดงาม

รศ.ดร.พรรณี สวนเพลง กล่าวว่า ได้นำเสนอกิจกรรมหลากหลายในทริปนี้ เช่น

1. เปิดตัว “สำรับอาหารฟิวชันอยุธยาโบราณ” ที่จะเปิดจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในอยุธยา เริ่มจำหน่ายในร้านเดอริว่า อโยธยา บัดนี้เป็นต้นไป อันได้แก่ มัสมั่นเนื้อน่องลาย, ข้าวบุหรี่ (ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ), ต้มยำกุ้งจากน้ำต้มข้าว และขนมหินฝนทอง เพื่อนำเสนอเมนูแก่นักท่องเที่ยว เป็นการต่อยอดและเป็นผลสำเร็จจากงานวิจัยในครั้งนี้ 

2. การทำขนมหินฝนทองซึ่งเป็นขนมไทยในตำนานที่กำลังจะหายไป เป็นผลงานชิ้นโบแดงของทีมวิจัยที่ “รื้อฟื้น” พัฒนาตำรับ และถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการ ชาวบ้าน เพื่อฟื้นการทำขนมอันทรงคุณค่านี้ขึ้นมา ขนมหินฝนทอง เป็นขนมหวานหารับประทานยาก หน้าตาคล้ายกับหินฝนทองที่คนโบราณใช้ทดสอบทองคำว่าเป็นทองแท้หรือไม่ มีรสหวาน หอม ละมุนลิ้น คนโบราณนิยมพกติดตัวไปเวลาเดินทางไกล หรือเวลาออกรบ เพราะเก็บไว้รับประทานได้นาน 1-2 เดือน และจะต่อยอดสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของฝากชนิดใหม่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

3. จ่ายป่าก์ (ตลาด) เป็นกิจกรรมเยี่ยมชมตลาดหัวรอ ซึ่งเป็นตลาดอยุธยาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เต็มไปด้วยอาหาร พืช ผัก ผลไม้ ขนม และวิถีของคนอยุธยาที่คงให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

4. เยี่ยมชมชุมชนเกาะเกิด อ.บางปะอิน ชมนาข้าวอินทรีย์ วิถีประมงและการตกกุ้ง Homestay ชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน ที่น่าไปเรียนรู้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ด้วยการเปิดบ้านให้เป็นที่พักโฮมสเตย์ 

5. กิจกรรมสนุก ล่องเรือ “กระแชง” เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำที่เป็น Unseen อยุธยา โดยเป็นเรือกระแชงไม้สักทองทั้งลำ ซึ่งเป็นเรือโบราณที่พัฒนาได้มาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงสุด มีห้องน้ำบนเรือ สะอาด สะดวก ปลอดภัย และมีระบบบำบัดน้ำที่ใช้แล้วก่อนทิ้งลงแม่น้ำ ไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานชมโบราณสถาน การนั่งพาหนะท้องถิ่นตุ๊กตุ๊กหน้ากบ กิจกรรม Thai Cooking Experience กับชาวบ้านที่โฮมสเตย์บ้านเกาะเกิด

6. ชิลกับร้านอาหารและคาเฟ่สุดเก๋ของอยุธยา ดินแดนแห่งอาหารอร่อย ทั้งอาหารชาววังและอาหารชาวบ้าน มีร้านคาเฟ่เก๋ไก๋มากมาย

กิจกรรมในครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยสื่อมวลชน บล็อกเกอร์และ Influencers สู่อยุธยา ซึ่งจะนำเสนอแง่มุมความน่าสนใจของอยุธยา ด้วยอรรถรสและความสนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆ เกิดการแชร์ในโลกโซเชียล ทั้งการชิม ชม ชอป ชิลในอยุธยา นำไปสู่การกระจายรายได้ลงพื้นที่ ช่วยสนับสนุนภาคเศรษฐกิจและชุมชนไทยให้เติบโต นำอยุธยาสู่เมืองศูนย์กลางท่องเที่ยวระดับโลก และต้องขอขอบคุณพันธมิตร ทั้งคุณนิธิ สืบพงษ์สังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นัตตี้ส์ แอด เวนเจอร์ส์ จำกัด ที่ดูแลกิจกรรมตลอดทริป, สถาบันอาศรมศิลป์ รวมถึงมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งขับเคลื่อนอาหารอยุธยาสู่สายตาชาวโลก

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต #สถาบันอาศรมศิลป์ #วัฒนธรรมอาหารอยุธยาเมืองท่าแห่งตะวันออก #บล็อกเกอร์VSสวนดุสิต #บพข #ววน #กองทุนส่งเสริมววน #หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ #กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ #gastronomyvillagetourism


กำลังโหลดความคิดเห็น