xs
xsm
sm
md
lg

สภาองค์การนายจ้างฯ หวั่นขึ้นค่าแรง 450 บาท/วันดันธุรกิจแห่ย้ายหนี-สินค้าพุ่งระลอกใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์การนายจ้างฯ หวั่นนโยบายขึ้นค่าแรง 450 บาท/วันกระชากแรง หวั่นทำธุรกิจช็อกแห่หนีย้ายไปประเทศเพื่อนบ้านซ้ำรอยปี 56 ที่ขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน แถมราคาสินค้าจะพาเหรดขยับขึ้น แนะให้พิจารณาอย่างรอบคอบ ยันเห็นด้วยที่ปรับขึ้นแต่ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพแรงงานที่เพิ่มตามด้วย

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า สภาองค์การฯ ต้องการให้รัฐบาลใหม่ได้พิจารณาอย่างเป็นขั้นตอนและรอบคอบในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะหากขึ้นแบบกระชากไปสู่ระดับ 450 บาท/วันทันทีจะเกิดภาพที่ซ้ำรอยในอดีตของสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันทั่วประเทศปี 2556 นั่นคือ การย้ายฐานการผลิตในไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านครั้งใหญ่ และการลงทุนใหม่ที่เน้นการใช้แรงงานจะไม่เกิดขึ้น

“สมัยที่ขึ้นค่าแรง 300 บาท/วันเราเห็นการย้ายฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งสิ่งทอ รองเท้า โรงงานปลากระป๋อง และชิ้นส่วนบางประเภท ย้ายฐานไปเพื่อนบ้านหมดโดยเฉพาะเวียดนามเพราะอย่าลืมว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างการผลิต ห้องแถวที่เคยรับจ้างเย็บเสื้อกีฬาแบรนด์ดังๆ หายไปหมด รอบนี้เราก็จะเกิดซ้ำรอยอีกเช่นกันเพราะโครงสร้างอุตสาหกรรมบ้านเราส่วนใหญ่ยังคงเน้นใช้แรงงานเรายังไม่ได้ก้าวข้ามไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทคแต่อย่างใด” นายธนิตกล่าว

การปรับขึ้นค่าแรงที่สูงในช่วงที่ผ่านมามีผลทำให้ปัจจุบันการส่งออกของไทยที่เคยเป็นผู้นำในภูมิภาค รวมถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จนทำให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยพึ่งพิงการส่งออกสูง นี่คือเหตุผลว่าทำไมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยในระยะ 10 ปีจึงลดต่ำลง อย่างไรก็ตาม การเพิ่มค่าแรงสภาฯ ไม่ได้คัดค้านหากแต่ต้องทำแบบมีขั้นตอนและต้องไม่มองข้ามในเรื่องของผลิตภาพแรงงานด้วย

“เราต้องไม่ลืมอีกข้อที่สำคัญ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องของค่าแรงแรกเข้า ดูแลคนเปราะบางซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่คนไทยได้รับเกิน เมื่อค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มจะทำให้แรงงานเดิมที่ได้รับ 450 บาท/วันอยู่แล้วนายจ้างก็ต้องปรับขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมไทย 90% เป็นขนาดกลางและย่อม (SMEs) เขารับไม่ไหวหรอกเพราะค่าแรงจะขึ้นเป็นทอดๆ ไป สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนกลับไปยังราคาสินค้าเพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นประชาชนเดือดร้อนแรงงานก็เช่นกัน แต่เศรษฐกิจจะแย่กว่าเพราะต้นทุนที่เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในการส่งออกยิ่งลดลง ขณะที่เวียดนามมีแต้มต่อในเรื่องของสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ มากกว่าไทย” นายธนิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีที่รัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือผลกระทบ เช่น การลดหย่อนภาษีฯให้ SMEs คิดว่าประเด็นดังกล่าวไม่น่าจะใช่คำตอบ เพราะหากธุรกิจมีกำไรก็ควรจะเก็บภาษีฯ แต่ทุกวันนี้ SMEs ส่วนใหญ่จะขาดทุนเมื่อไปเพิ่มค่าแรงเท่ากับเพิ่มต้นทุนเขาก็จะยิ่งขาดทุนมากขึ้น ปัญหาคือต้องทำอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น