ไทยออยล์คาดไตรมาส 2/66 ส่อขาดทุนสต๊อกน้ำมันและค่าการกลั่น (GRM) ลดลง สาเหตุจากมีน้ำมันจากรัสเซียและจีนกดดันราคาตลาด ลุ้นครึ่งหลังปีนี้ธุรกิจปิโตรเคมีฟื้นตัวดีขึ้น
นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนการพาณิชย์ บริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2566 พบว่าตลาดน้ำมันดิบยังอยู่ในภาวะล้นตลาด เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียลดลงน้อยแม้ว่าจะถูกคว่ำบาตรจากยุโรปก็ตาม ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นหลังจากจีนเปิดประเทศและสต๊อกน้ำมันโลกยังอยู่ระดับสูง กดดันราคาน้ำมันให้ย่อตัวลงมา ทำให้ในไตรมาส 2/2566 บริษัทอาจเกิดปัญหาการขาดทุนสต๊อกน้ำมันอยู่บ้าง
ส่วนค่าการกลั่น (GRM) ในไตรมาสนี้มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566 ที่ Market GRM อยู่ระดับ 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากรัสเซียและจีนมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปออกมา รวมทั้งโรงกลั่นน้ำมันฝรั่งเศสกลับมาผลิตได้อีกครั้งหลังจากเกิดการประท้วง ทำให้ค่าการกลั่นตลาดสิงคโปร์ย่อตัวต่ำลงมาทำให้บางโรงกลั่นเริ่มที่จะลดกำลังการกลั่นลง
อย่างไรก็ดี บริษัทประเมินว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2566 ความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกลุ่มโอเปกลดกำลังการผลิต ทำให้ตลาดน้ำมันดิบเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น คาดว่าซัปพลายน้ำมันดิบในปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาราว 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนความต้องการใช้น้ำมันปีนี้สูงขึ้นกว่าปีที่แล้วคาดว่าเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรล/วัน หลังจากจีนเปิดประเทศ ขณะที่ค่าการตลาด (GRM) น่าจะปรับตัวดีขึ้นด้วย หากเศรษฐกิจจีนเติบโตดีขึ้นทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้นจนลดการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปลง มีผลให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบ (สเปรด) และ GRM ในช่วงที่เหลือของปีนี้มีทิศทางดีขึ้น
"ครึ่งปีหลังหากสถานการณ์เป็นไปตามคาดการณ์ กลุ่มโอเปกออกมาลดกำลังการผลิตลงก็จะทำให้ตลาดน้ำมันดิบเข้าสู่สมดุลมากขึ้น สนับสนุนให้บริษัทมีโอกาสพลิกกลับมามีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน ส่วน GRM (ค่าการกลั่น) อยู่ในระดับต่ำ เริ่มมีสัญญาณที่ดีจากการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ต้องส่งออก เช่นใน North Asia ทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบและราคาผลิตภัณฑ์ รวมถึง GRM ฟื้นตัวขึ้นมาบ้าง"
นายณัฐพลกล่าวว่า ความคืบหน้าการลงทุนในโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ที่จะมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปีนี้ และเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567
ส่วนความคืบหน้าการลงทุนธุรกิจไฮโดรเจนจะเชื่อมต่อกับธุรกิจของไทยออยล์ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโครงการกรีนไฮโดรเจน และโครงการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture) คาดว่ายังต้องใช้เวลาศึกษาอีกหลายปี