ผลการเลือกตั้งที่ประชาชนทั่วไทยออกมาใช้สิทธิใช้เสียงเมื่อ 14 พ.ค. 2566 ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อีกครั้งที่พรรคก้าวไกลผงาดกวาดเก้าอี้แบบถล่มทลาย แม้แต่เจ้าถิ่นเก่าที่มาแรงอย่างพรรคเพื่อไทยยังต้องหลบให้ไม่อาจแลนด์สไลด์สมกับที่ตั้งเป้าหมายไว้ .....
ที่เหลือก็คงต้องมาลุ้นการจับมือของพรรคก้าวไกลว่าจะจัดตั้งรัฐบาลในรูปแบบไหนโดยเฉพาะการร่วมกับพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะเพื่อไทยที่คะแนนมาเป็นอันดับ 2 ที่มองว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตยว่าจะมีเงื่อนไขใดๆ ในการทำให้เพื่อไทยยอมรับได้หรือไม่ ก็คงต้องว่ากันไป แต่หาก 2 พรรคนี้ร่วมรัฐบาลแน่นอนว่าการแบ่งเค้กดูแลกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ย่อมต้องจัดสรรกันให้ลงตัว โดยหนึ่งในกระทรวงเกรด A ที่อาจจะต้องเคลียร์กันหนักหน่อยหนีไม่พ้น กระทรวงพลังงาน
ดังนั้น มารู้จักกระทรวงพลังงานกันหน่อยว่าเหตุใดที่ผ่านมากระทรวงแห่งนี้เป็นที่หมายตาของนักการเมืองทุกพรรคชนิดขับเคี่ยวกันออกหน้าออกตา กลายเป็นความขัดแย้งและรอยร้าวให้เห็นบ่อยครั้ง ทั้งที่งบประมาณแต่ละปีของกระทรวงนี้มีแค่หลักกว่า 2,000 ล้านบาทแค่ชายตามองยังไม่น่ามอง แต่ที่จ้องไม่กะพริบอยู่ที่บทบาทที่ยิ่งใหญ่มีอำนาจครอบจักรวาล พลังงานครบวงจรทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ พลังงานทางเลือก
การบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานหมื่นล้านบาทเพื่อกิจกรรมส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานที่เป็นงบถลุงกันง่ายๆ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่แม้จะมีหนี้เกือบแสนล้านบาทแต่ก็สามารถบริหารราคาน้ำมันขายปลีกอยู่ในมือ รวมไปถึงการกำกับนโยบายด้านการจัดหาและซื้อไฟฟ้า ค่าไฟฟ้า ที่แม้จะมีองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทำหน้าที่ แต่ฝ่ายการเมืองก็ใช้ความสามารถเข้าไปล้วงลูกได้เสมออย่างที่เห็นๆ ด้วยการส่งคนของตนเองไปนั่งในบอร์ด กกพ.
ไม่เพียงเท่านั้น รัฐวิสาหกิจในสังกัดที่สำคัญคือ บมจ.ปตท. ที่มีบริษัทลูกในเครืออีกเป็นพรวนมีรายได้ปีละเกือบแสนล้านบาท ที่พร้อมจะตอบสนองนโยบายพลังงานจากฝ่ายรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง ยังไม่พอยังแถมด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าของประเทศ แค่ส่งคนเข้าไปเป็นบอร์ดแต่ละที่ของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้สอดส่องงบลงทุนนั่นนี่ ก็เพลินกันแล้ว
การอนุมัติการจัดหาไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ว่าด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม การซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ก็ให้อำนาจเต็มแก่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่รัฐมนตรีพลังงานเป็นประธานแล้วก็เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบ ฯลฯ แค่นี้เห็นหรือยังว่า กระทรวงพลังงานแห่งนี้ผลประโยชน์มันมากมายอย่างแท้ทรู ดังนั้น แน่นอนหากส่องนโยบายพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นโยบายด้านพลังงานจะเป็นจริงตามที่หาเสียงได้ศึกนี้ก็ต้องชิงกันหน่อย
เปิดนโยบายด้านพลังงานพรรคก้าวไกล
มาดูนโยบายที่พรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ด้านพลังงานหลักๆ ได้กำหนดเป้าหมายไว้ 5 ขั้นที่พรรคก้าวไกลลั่นจะเปลี่ยนแปลงให้ได้ ขั้นที่ 1 เปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซธรรมชาติ จากเอื้อกลุ่มทุน เป็นเอื้อประชาชน โดยใช้กลไกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยระบุทำได้เลยภายใน 100 วันแรก และเห็นผลในบิลค่าไฟ ลดได้ทันที 70 สตางค์ต่อหน่วยในปีแรก พร้อมกันนั้น ต้องเร่งเจรจาสัมปทานก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนอ่าวไทย เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากการนำเข้า
ขั้นที่ 2 เปลี่ยนแดดเป็นเงิน ปลดล็อกระบบขายไฟแบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) เพื่อให้ทุกบ้านเรือนที่ต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านสามารถทำได้อย่างถูกต้อง และเกิดการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านเพื่อลดค่าใช้จ่ายได้เอง โดยคาดว่า 4 ปีจะติดตั้งหมดทั่วประเทศ
ขั้นที่ 3 เปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเลือกซื้อไฟฟ้าได้เอง ไม่ต้องถูกมัดมือชกซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยุติการรับประกันกำไรให้เจ้าสัวพลังงาน เหมือนกับในต่างประเทศที่ประชาชนสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าได้เอง ค่าไฟฟ้าจะถูกลงได้จากการแข่งขัน นอกจากนี้ ผู้ใช้ไฟฟ้ายังสามารถกำหนดได้ว่าจะซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานอะไร บางคนอาจเลือกซื้อจากพลังงานสะอาด 100% ได้
ขั้นที่ 4 ชนกับกลุ่มทุนใหญ่เสือนอนกิน เจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัมปทานกับกลุ่มทุนพลังงานใหม่ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดขึ้นจาก ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ของโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่อง และแก้ไขนโยบายเอื้อกลุ่มทุนพลังงานเพื่อลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนได้เพิ่ม
ขั้นที่ 5 พรรคก้าวไกลเตรียมเดินหน้าแผน PDP Net Zero ไม่เพิ่มโรงไฟฟ้าฟอสซิล ตั้งเป้าปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2580 เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดเป็นพลังงานสะอาดให้มากที่สุด
เปิดนโยบายพลังงานพรรคเพื่อไทย
หันมาดูนโยบายพลังงานที่พรรคเพื่อไทยชูหาเสียงในช่วงเลือกตั้งโดยเน้นหลักๆ ใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1. จะลดราคาพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือก๊าซหุงต้ม และราคาน้ำมัน แต่ยังไม่ได้ระบุรายละเอียดที่ชัดเจนนัก 2. จะมีการเจรจาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อที่จะนำก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยมีการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างไทย-กัมพูชาอย่างเป็นธรรม ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ควรนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ มี 8 ประการ คือ
1. ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา มีปริมาณมากกว่าแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มาแล้วกว่า 30 ปี 2. ปริมาณก๊าซที่ได้จากอ่าวไทยและจากพม่าลดลง ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ที่มีราคาสูงมาก 3. การนำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวมาใช้จะช่วยให้ไทยสามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกลง 4. ในอนาคตเทรนด์โลกจะนิยมใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ ทำให้ในอนาคตก๊าซธรรมชาติจะไม่มีราคา จึงจำเป็นต้องรีบนำก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้และขายนำรายได้เข้าประเทศ
5. ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนสามารถเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อนำไปทำธุรกิจปิโตรเคมีได้ โดยไทยมีโรงแยกก๊าซอยู่ 6 โรง และมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับอยู่แล้ว ทำให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า 6. รัฐจะได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งกันระหว่างไทย-กัมพูชา และมีรายได้จากภาษีจำนวนมหาศาล 7. รัฐจะได้ค่าภาคหลวงในอัตราส่วนที่มากกว่าเดิม 8. การสำรวจและขุดเจาะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-8 ปี จึงควรเร่งเจรจาให้จบตั้งแต่ตอนนี้
3. สนับสนุนพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกเพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานแบบดั้งเดิม เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รอลุ้นลดค่าไฟ-น้ำมัน?
เมื่อวิเคราะห์นโยบายที่หาเสียงของ 2 พรรคหลัก แน่นอนว่าพรรคก้าวไกลจะมีทิศทางที่ชัดเจนในรายละเอียดมากกว่าเพื่อไทย .... และดูจะเป็นการเขย่าขุมทรัพย์พลังงานแบบแรงสั่นสะเทือนระดับ 9 ริกเตอร์กันเลยทีเดียว ตรงกันข้ามที่เพื่อไทยดูจะยังไม่ได้มีรายละเอียดมากนักแต่กรอบหลักไปในทิศทางเดียวกันในการเข้ามาลดค่าไฟฟ้า ราคาน้ำมัน เพื่อลดภาระให้ประชาชนและมุ่งส่งเสริมพลังงานสะอาด ฯลฯ
ระยะแรก เชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาแก้ไขทันทีหนีไม่พ้นค่าไฟฟ้าเพราะถือเป็นกระแสที่ประชาชนทั่วประเทศออกมาแสดงการต่อต้านอย่างหนัก แม้กระทั่งภาคธุรกิจเพราะค่าไฟของไทยช่วงปี 2562 เคยอยู่ในอัตราเฉลี่ยเพียงหน่วยละ 3 บาทกว่าๆ แต่เวลานี้กระโดดมาอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย และยิ่งอากาศร้อนคนไทยเปิดแอร์ค่าไฟที่คิดเป็นขั้นบันไดก็ยิ่งแพงไปใหญ่.... นโยบายลดค่าไฟฟ้าจึงแทบจะเป็นหมุดหมายแรกๆ ของผู้ที่เข้ามากุมบังเหียนกระทรวงนี้กันเลยทีเดียว โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าในงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค. 66) ได้ลดลงแน่นอน ซึ่งสัญญาณล่าสุดจาก "กกพ." ก็มีนัยสำคัญที่จะลดลงได้อีกจากการปล่อยข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุดซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าถูกสั่งให้ลดกระแส หรือว่าอย่างไรกันแน่เพราะเป็นองค์กรอิสระ?
จับตารื้อแผน PDP 2023
สิ่งที่น่าจับตาอีกหนึ่งนโยบายสำคัญหนีไม่พ้น การจัดทำแผนพลังงานชาติ ที่ประกอบไปด้วย 5 แผนหลัก แต่สิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิดน่าจะเป็นแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ PDP 2023 (ปี 2566-80) ที่เป็นฉบับใหม่ว่าด้วยผลประโยชน์ในการก่อสร้างและรับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ ซึ่งเบื้องต้นแผนนี้จะไม่มีการบรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินสำหรับโรงใหม่ไว้ ดังนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินจะเหลือเพียงโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น ขณะที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังคงมีบรรจุไว้ช่วงปลายแผน PDP 2023 แต่จะปรับขนาดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้มีขนาดเล็กลงตามเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อความปลอดภัยและเหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยแผน PDP 2023 จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนมากขึ้น ฯลฯ
ดังนั้น ภายใต้รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาปรับแผนดังกล่าวเพื่อให้สอดรับกับนโยบายของพรรคที่หาเสียงไว้ โดยพรรคก้าวไกลนั้น ถึงขั้นเรียกชื่อใหม่ว่า PDP Net Zero เนื้อในก็คงไม่ต้องพูดถึงต้องยึดพลังงานสะอาดแบบสุดๆ แถมระหว่างหาเสียงยังระบุถึงกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองที่สูงเกินไป มีโรงไฟฟ้าเอกชนเป็นเสือนอนกินที่ไม่ต้องผลิตก็ต้องจ่ายเงินซื้อหรือค่าความพร้อมจ่าย (AP) เหล่านี้จะต้องแก้ไขแน่นอน..... หากก้าวไกลได้เก้าอี้นี้ไปครองจริงกลุ่มทุนพลังงานเดิมระส่ำแน่นอนเพราะนโยบายต่างๆ คงจะรื้อใหม่หมด
แต่หากการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ "พรรคก้าวไกล" จะก้าวไปไกลสมชื่อหรือไม่ อันนี้ก็ยังต้องลุ้นกันต่อแม้ว่าล่าสุดพรรคก้าวไกลจะระบุถึงการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกับอีก 6 พรรคคือเพื่อไทย ไทยสร้างไทย ประชาชาติ เสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรมรวบรวมคะแนนเสียง 313 เสียงแต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการก้าวข้ามสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หากจะปิดสวิตช์ ส.ว.ก็ต้องมีพรรคอื่นมาร่วมเพิ่ม ...แต่ก็ดูเหมือนว่า “ก้าวไกล” กำลังบีบให้ส.ว.ยกมือโหวตโดยอ้างถึงเสียงประชาชนเลือกเป็นเสียงข้างมาก เกมนี้เรียกว่ามันหยดติ๋ง
อย่าเพิ่งมองไปไกล เฉพาะการถกโควตารัฐมนตรีระหว่างขั้วใหญ่อย่าง “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” เริ่มแย้มออกมาแล้วว่า เพื่อไทยเองก็ขอกระทรวงเกรด A อย่าง “พลังงาน” เช่นกัน ซึ่งเบื้องต้นดูเหมือน "ก้าวไกล" เองก็ออกมาระบุกระทรวงที่ต้องการ และหนึ่งในนั้นก็มีชื่อ กระทรวงพลังงานด้วย
ดังนั้นหากเป็น "เพื่อไทย" มาคุมกลุ่มทุนเดิมอาจจะระส่ำไม่มาก เพราะด้วยเคยเป็นรัฐบาลและบริหารกระทรวงนี้มาก่อนย่อมคุ้นเคยหน้ากันการประนีประนอมน่าจะมีมากกว่า แต่การปรับเปลี่ยนนโยบายหลักๆ มีแน่นอน แต่ "ก้าวไกล" มาคุมเตรียมรับมือการเปลี่ยนแบบแรงสั่นสะเทือนระดับทะลุ 9 ริกเตอร์ได้เลย งานนี้ก็ต้องติดตามกันใกล้ชิด เพราะ "ขุมทรัพย์พลังงาน" มันหอมหวานจริงๆ