xs
xsm
sm
md
lg

สภาผู้บริโภคจี้รัฐทบทวนวิธีคำนวณ Ft-หยุดสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่-หนุนโซลาร์ฯ สกัดค่าไฟแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาองค์กรผู้บริโภคเสนอภาครัฐโดยให้กกพ.ทบทวนคิด Ft โดยประมาณการราคาเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจริง 4 เดือน ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ แก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบต้องหยุดโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หนุนประชาชนติดตั้งโซลาร์เซลล์แบบ Net Metering รับมือวิกฤตค่าไฟแพง

นายประสาท มีแต้ม ประธานอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรผู้บริโภค
กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “ไฟฟ้าสำรองล้นระบบ ทำค่าไฟแพง ใครรับผิดชอบ” จัดโดยสภาองค์กรผู้บริโภคร่วมกับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) วันนี้ (11 พ.ค.) ว่า สภาผู้บริโภคมีข้อเสนอการแก้ไขค่าไฟฟ้าแบบไม่ต้องใช้งบประมาณ ดังนี้ 1. เสนอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) ทบทวนสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) โดยใช้วิธีคำนวณจากการพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าและการประมาณการราคาเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่ใช้เป็นค่าเฉลี่ยล่วงหน้า 4 เดือนนั้น ให้คำนวณจากค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงของ 4 เดือนที่ผ่านมาแทน

2. กระทรวงพลังงานและ กกพ.ปรับโครงสร้างราคา Pool Gas ใหม่ โดยให้นำปริมาณก๊าซเข้าสู่โรงแยกก๊าชธรรมชาติของ ปตท. และถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมารวมอยู่ในราคา Pool Gas ด้วยจะทำให้ราคา P๐๐l Gas ลดลงได้ คาดว่าช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ราว 40,000-50,000 ล้านบาทต่อปี หรือลดค่าไฟฟ้าได้ 23-25 สตางค์/หน่วย

3. เสนอให้กระทรวงพลังงานดำเนินการให้ บมจ.ปตท.จัดสรรรายได้จากธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติให้กับ กฟผ.เพิ่มเติม จากการคำนวณส่วนต่างเบื้องต้นของมูลค่าก๊ซอีเทนของโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ส่งให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเฉพาะในปี 2564 พบว่าจะเกิดส่วนต่างมูลค่าหลังหักค่าใช้จ่ายและผลตอบแทนจากการประกอบกิจการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในระดับที่เหมาะสมประมาณ 20,000 ล้านบาทสามารถนำเงินส่วนนี้มาเป็นส่วนลดค่าก๊าซให้ กฟผ.อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดภาระหนี้ของ กฟผ.ได้มากขึ้น

4. การแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นเกิน กระทรวงพลังงานต้องหยุดสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หยุดเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้ากับโรงไฟฟ้าใหม่ และควรเจรจาต่อรองปรับปรุงสัญญากับโรงไฟฟ้าที่มีอยู่แล้วเพื่อลดค่าซื้อไฟฟ้า รวมทั้งค่าความพร้อมจ่ายที่เกิดขึ้น นับเป็นบันไดขั้นแรกในการแก้ปัญหา อุดช่องโหว่การเอื้อประโยชน์ต่อประชาชน

5. เสนอให้ กกพ.ประกาศให้ประชาชนสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านได้ด้วยการยอมให้มิเตอร์หมุนคืนได้ (แบบหักลบกลบหน่วย หรือ Net Metering) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 รัฐบาลผลักดันโดยทันที เพื่อให้ค่าไฟฟ้าของประเทศลดลงต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย เพื่อลดความทุกข์เพิ่มความสุขให้แก่ผู้บริโภค ประชาชนอย่างยั่งยืน

นายชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟแพงคือ 1. สำรองที่มากเกินไปโดยกำลังผลิตตามสัญญาเราอยู่ที่ 53,458 เมกะวัตต์สูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดเกือบ 2 หมื่นเมกะวัตต์แม้ว่าจะหักไฟฟ้าที่พึ่งพาไปไม่ได้สำรองก็ยังสูงถึง 30% ขณะเดียวกัน กฟผ.เหลือสัดส่วนผลิตแค่ 32% จากอดีต 68% แต่สัดส่วนโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่เล็ก (IPP และ SPP) 48% 2. การบริหารสัมปทานก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยผิดพลาดช่วงเปลี่ยนผ่าน 3. จัดสรรก๊าซฯ ไม่เหมาะสมโดยใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มากขึ้น

"แม้ว่ากระทรวงพลังงานจะหันมากำหนดให้ไฟฟ้าดับได้ต่อปี (LOLE) อยู่ที่ 1 วันหรือ 24 ชั่วโมงต่อปี ตามมาตรฐานสากลแทนการคิดสำรองแบบเก่า โดยประเทศไทยกำหนดให้ไฟฟ้าดับได้ 0.7 วันต่อปี สัดส่วนดังกล่าวต้องสำรองปริมาณไฟฟ้าเป็น 19-24% ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพเครื่องผลิตไฟฟ้าซึ่งประชาชนตรวจสอบไม่ได้จึงเป็นวิธีการหลบเลี่ยงแบบหนึ่ง" นายชาลีกล่าว


น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะพลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าขณะนี้เป็นการผ่องถ่ายกำไรจาก กฟผ.ไปให้ภาคเอกชน โดยพบว่าเมื่อปี 2544 กฟผ.มีกำลังผลิต 15,000 เมกะวัตต์มาปี 2564 เพิ่มขึ้นเพียง 1,082 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนบางรายเติบโตมาใกล้เคียงกับ กฟผ. กำลังการผลิต 15,499 เมกกะวัตต์ ซึ่งเอกชนมุ่งหวังกำไรสูงสุดเมื่อส่งผ่านมายัง กฟผ.ก็ต้องส่งผ่านมาให้ประชาชนรับภาระค่าไฟ

“รัฐบาลที่ดีไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลฯ มาชี้ต้องรู้หน้าที่ปฏิบัติ แต่เรามีรัฐซ้อนรัฐที่เป็นกลุ่มทุนจึงต้องเปิดช่องไว้ให้ เมื่อไม่มีการบังคับใช้เป็นคำแนะนำ เขาก็ไม่ฟังเขาไปอีกทาง กฟผ.เองก็จะลดน้อยลงไปอีกในอนาคต ” น.ส.รสนากล่าว

นายปรีชา กรปรีชา รองประธานสหภาพด้านยุทธศาสตร์แผนงานและวิชาการ สร.กฟผ. กล่าวว่า ค่าไฟแพงคนที่รับผิดชอบคนแรกคือ ประชาชน ตามมาด้วยกฟผ.เพราะต้องจ่ายค่า Ft ถ้าให้แพงขึ้นทีเดียวสินค้าจะแพงหมดเศรษฐกิจจะลำบาก กฟผ.ก็ต้องรับภาระไปก่อนแต่สุดท้ายประชาชนก็ต้องมารับแทนต่อ ซึ่งรัฐวิสาหกิจที่เป็นสาธารณูปโภคจะรับใช้ประชาชนไม่แสวงหากำไรที่ต่างจากเอกชน ค่าไฟในอดีตที่ไม่มีเอกชนเข้ามาจะไม่มาปรับขึ้นขนาดนี้เขาจะไม่มี Ft เขาจะดูค่าครองชีพขั้นต่ำของประชาชน ดังนั้นการนำเอาเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมที่จะรองรับกับแปรรูป กฟผ.ที่ผ่านมาจึงมีผลอย่างยิ่งในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น