xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ยกคำชี้แจง “ดร.ชาลี”” โต้ “สุพัฒนพงษ์” ปมไฟฟ้าโซลาร์ “ลุงตู่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รสนา” โพสต์คำชี้แจงจาก รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ ตอบโต้ “สุพัฒนพงษ์” ประเด็นไฟฟ้าโซลาร์ตามนโยบาย “ลุงตู่” ย้ำ แทนที่จะซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากเอกชนรายใหญ่ ควรนำโควตามาซื้อไฟฟ้าโซลาร์หลังคาจากประชาชน ในแบบ Net Metering ให้ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

วันนี้ (8 พ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ว่า จากข่าวที่ “สุพัฒนพงษ์” ตอบโต้ “ธีระชัย” เรื่องเกรงทำประชาชนเข้าใจผิดเรื่องโซล่า “ลุงตู่” นั้น รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ ออกมาชี้แจงประเด็นเทคนิคเรื่องโซลาร์รูฟว่าจะไม่ก่อปัญหาดังที่สุพัฒนพงศ์ออกมาแก้ตัว ดังนี้

คำอธิบายต่อประเด็นร้อน เรื่องของการดำเนินงานตามแผนพลังงานชาติที่ผ่านมา
รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ (7 พ.ค. 2566)

ประเด็นแรก การรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุมเวียนจากภาคเอกชน แบบเปิดประมูลทิ้งทวน 8,900 เมกะวัตต์

แม้ว่าจะเห็นด้วยกับการส่งเสริมพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบไม่มีค่าพร้อมจ่ายเพราะเราจ่ายกันมากมายมานานแล้วด้วยการบริหารแบบเอื้อกลุ่มทุนพลังงานสุดโต่ง และประเทศไทยควรรีบดำเนินการโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาก๊าซธรรมชาติมีความผันผวนมาก และกำลังการผลิตในอ่าวไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวจากการจัดการสัญญาที่อาจไม่รัดกุมมากพอจนทำให้เกิดการขาดตอนกำลังการผลิตในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน แต่ประเด็นนี้ขอตั้งคำถามสำคัญสองข้อ คือ เหตุใดจึงไม่นำโควต้าดังกล่าวมาส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์บนหลังคา แบบหักลบกลบหน่วย (Net Metering) ก่อน เพราะในเชิงระบบสามารถลดการสูญเสียไฟฟ้าในสายส่ง เมื่อเทียบกับโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ นอกจากนี้ประโยชน์จะตกกับประชาชนโดยตรงแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แถมยังไม่มีข้อกังขาเรื่องผลประโยชน์ใต้โต๊ะต่อรัฐบาลแต่อย่างใด ที่ผ่านมาเมื่อผลประมูลออกมาผู้คนก็ต่างก็ส่ายหน้าเพราะเอกชนเจ้าเดียวกลับได้โควตาไปเกินครึ่ง โดยไม่มีการอธิบายวิธีการพิจารณาเลือกผู้ชนะที่ชัดเจนแต่อย่างใด

ประเด็นที่สอง การออกมาอธิบายว่ากลุ่มผู้ติดโซลาร์รูฟทอปสร้างภาระแก่ผู้ที่ไม่ติดโซลาร์บนหลังคาอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยค่าใช้จ่ายสายส่งป้องกันไฟฟ้าย้อนกลับและค่าส่วนต่างราคาขายส่งขายปลีก

ประเด็นนี้นับเป็นการมองปัญหาแบบมุมเดียว โดยไม่คิดถึงการแก้ไขจัดการปัญหาอย่างบูรณาการ การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาแบบหักลบลบหน่วยนั้น มีข้อโต้แย้งว่าเป็นการเอาเปรียบคนจนที่มีทุนน้อย หรือคนที่ไม่มีพื้นที่หลังคาโดยถ้าติดตั้งมากก็จะมาซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าน้อยลง จนทำให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ผลักมาที่ประชาชนมีคนร่วมหารน้อยลง ถ้าหากคำนวณดูจะพบว่าการติดตั้งโซลาร์บนหลังคาประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ (มากกว่ามาเลเซีย 3 เท่าตัว) จะทำให้ตัวหารหน่วยไฟฟ้าลดลงจากประมาณ 200,000 ล้านหน่วยต่อปี เหลือ 193,500 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าไฟฟ้าขึ้นได้อย่างมากที่สุด 0.34% หรือราว 2 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ในทางกลับกับหน่วยไฟฟ้าจากโซลาร์บนหลังคาเหล่านี้ก็สามารถช่วยลดโลกร้อน ช่วยลดภาระของระบบสายส่ง และที่สำคัญช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิง LNG ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าไฟฟ้ารวมทั้งระบบถูกลงได้อีกด้วยเช่นเดียวกัน แต่กลับไม่ถูกกล่าวถึงแต่อย่างใด และหากคิดว่าประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์บนหลังคาแบบหักลบกลบหน่วยเป็นภาระของระบบอยู่ รัฐก็สามารถจัดการได้ด้วยมาตรการ Green Tariff เช่นการเก็บค่าธรรมเนียมการติดตั้งต่อแผงเพื่อนำเงินกลับเข้ากองทุน Ft แทนการที่จะปิดกันบังแดด บังคับให้ประชาชนต้องก้มหน้าซื้อไฟฟ้าอยู่ท่าเดียว

สำหรับการพัฒนาสายส่งให้รองรับการซื้อไฟฟ้าโซลาร์บนหลังคาแบบหักลบกลบหน่วย ไม่มีประเด็นเชิงเทคนิคตามที่กล่าวอ้างว่าต้องมีติดตั้งระบบป้องกันไฟฟ้าไหลย้อน เพราะแทบไม่มีความจำเป็นใด ๆ เพียงแค่อาศัยการวางแผนอนุมัติติดตั้งและดำเนินการแบบรายพื้นที่ จำกัดปริมาณรวมไม่ให้เกินกว่าที่ กฟน. หรือ กฟภ. รับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. เพราะส่วนมากคือใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ใกล้เคียง และเมื่อไหลย้อนกลับไปยัง กฟผ. ก็แค่ยังไม่มีระบบคิดค่าไฟฟ้าแบบสองทางเท่านั้น ไม่ใช่ปัญหาเชิงเทคนิคที่จะสร้างความเสียหายระบบสายส่งแต่อย่างใด

ประเด็นที่สาม การซื้อขายไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มให้คำนวณ เป็นการลดรายได้รัฐ

การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น มีการยกเว้นให้กับการผลิตเพื่อใช้เองในครัวเรือนอยู่แล้ว รัฐควรมองว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์บนหลังคาเป็นการผลิตเพื่อใช้เองเป็นหลัก ส่วนที่ขาดจึงรับซื้อจากการไฟฟ้ามาเพิ่มเติม ส่วนในช่วงกลางวันที่ผลิตได้มากกว่าใช้ก็เพียงแค่ฝากพลังงานไฟฟ้าไว้ในระบบโดยนำเครดิตมาถอนคืนในช่วงเวลาอื่น ไม่ใช่การขายไฟฟ้าคืนแต่อย่างใด โดยถ้ามีค่าธรรมเนียมการฝากไฟฟ้า เช่น wheeling charge จึงนำเฉพาะส่วนนี้มาคิดภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และที่สำคัญรัฐได้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วจากการลงทุนติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าโซลาร์บนหลังคาของประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น