xs
xsm
sm
md
lg

"รสนา" เสนอรัฐส่งเสริมประชาชนติดตั้ง "โซลาร์รูฟ" 5 กิโลวัตต์แรกไม่ต้องขออนุญาต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"รสนา" เสนอแก้ไฟแพง แนะรัฐส่งเสริมประชาชนติดตั้ง "โซลาร์รูฟ" 5 กิโลวัตต์แรกไม่ต้องขออนุญาตให้ยุ่งยาก



วันที่ 26 เม.ย. 2566 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมสนทนาในรายการ "คนเคาะข่าว" ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง "นิวส์วัน" ในหัวข้อ "ค่าไฟแพง แก้ไม่ได้หรือไม่แก้?"

น.ส.รสนากล่าวว่า ค่าไฟฟ้าขึ้นอยู่กับค่าไฟฐานกับค่าเอฟที ค่าไฟฐานสัก 5 ปีเปลี่ยนที แต่ค่าเอฟที หรือค่าไฟฟ้าผันแปร เผื่อไว้การเปลี่ยนแปลงเฉพาะหน้า เช่นการซื้อเชื้อเพลิงแพง หรือซื้อถูกลงก็ลดค่าเอฟทีได้

สัญญาซื้อไฟที่เรียกว่า PPA กำลังการผลิตตอนนี้ 5.3 หมื่นเมกะวัตต์แล้ว กำลังการผลิตตรงนี้ที่รัฐบาลกำหนดขึ้นมา และซื้อมาด้วยราคาเท่าไหร่ ตรงนี้จะถูกเอามารวมอยู่ในค่าเอฟที กำลังการผลิตเวลานี้ที่มันล้นเกิน พ.ค. ปีที่แล้ว สำรองเกินจากต้องการใช้ 54% แต่ตอนนี้มันเกิน 62% แล้ว แสดงว่ามีการซื้อเรื่อยๆ เพิ่มขึ้นมา

ราคาที่รับซื้อ บางแห่งที่ กฟผ.ซื้อ 10 บาทขึ้นไป แต่ กฟผ.ขายให้ กฟน. กับ กฟภ. อยู่ที่หน่วยละ 2.57 บาท แต่ไปรับซื้อเอกชนมา 10 บาท ซื้อแพงขายถูกจนขาดทุนมหาศาล พอแบกไม่ไหวก็ลดหนี้ด้วยการขึ้นค่าไฟด้วยการผ่องมาอยู่ในค่าเอฟที

น.ส.รสนากล่าวอีกว่า เรื่องไฟฟ้าสำรองเกิน รัฐบาลสามารถเจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายลงได้บ้าง แต่จะยอมเจรจาหรือเปล่า ส่วนที่จะเข้ามาใหม่ตัดไปเลยยกเลิกไปเลย ส่วนที่เซ็นสัญญาแล้วยังไม่ก่อสร้าง ยอมจ่ายค่าเสียหายแล้วยกเลิกไปเลย สร้างแล้วยังไม่เสร็จก็ขอให้ชะลอไปก่อนได้ไหม พวกนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งนั้นมากหรือน้อย รวมถึงการเจรจาเรื่องการรับซื้อ เป็นเรื่องที่รัฐบาลถ้ามีธรรมาภิบาลเจรจาได้

จริงๆ แล้วกำลังสำรองการผลิตเกิน 15% เริ่มมาตั้งแต่ปี 41 แล้ว แต่เกินมานิดๆ มันมาพีกช่วงรัฐบาลก่อนจะรัฐประหารปี 57 แต่ 5 พันเมกะวัตต์เพิ่งมาเข้าระบบในปี 64-65 ทั้งหมด 4 โรง ก็เข้ามาปีละโรงๆ ซึ่งมีนักวิชาการบอกว่าใน 20 ปีนี้ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเลย

น.ส.รสนากล่าวต่ออีกว่า การให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟถือเป็นความมั่นคง มันจะลดพีก เพราะประชาชนจะใช้ที่ผลิตได้ก่อน การใช้ไฟส่วนกลางก็จะลดลงเองอัตโนมัติ

แต่ปัญหาหลักตอนนี้เลย เมื่อประชาชนอยากจะติดตั้ง คือต้องมีการขออนุญาตยุ่งยาก ใช้เงินก้อน นอกจากนี้แบตเตอรี่ยังมีราคาแพง เรามีสายส่งก็มาจากภาษีประชาชน สามารถฝากไฟไว้ในระบบสายส่งของการไฟฟ้า เมื่อใช้แล้วการหักลบกลบหน่วย เวลานี้เราเสียค่าไฟแบบขั้นบันได ใช้ไม่ถึง 150 หน่วย อยู่ที่หน่วยละ 4 บาทกว่าๆ เกิน 151 หน่วยขึ้นไปถึง 400 หน่วย ก็จะ 5 บาทกว่า เกินจากนี้ขึ้นไปก็แพงขึ้นเป็นขั้นบันได

เราติดโซลาร์รูฟ สมมติผลิตได้ 400 หน่วย ใช้ 600 จะเจอราคา 5 บาทกว่า 400 หน่วยจะถูกหัก จ่ายแค่ 200 หน่วย แต่ถ้าไปใช้กลางคืนไม่ได้ ขายให้การไฟฟ้าหน่วยละ 2.20 บาท แต่เวลาเราซื้อ 5 บาทกว่า แต่มันก็ช่วยเราลดค่าไฟได้บ้าง แม้ระยะคืนทุนยาวขึ้น

น.ส.รสนากล่าวอีกว่า เริ่มต้นยังไม่ต้องคิดเรื่องเน็ต Net Metering ถ้าเราไม่มีโอกาสใช้ไฟกลางคืน สมมติกลางวันผลิตได้ 20 หน่วย แต่ไม่ได้อยู่บ้าน ไฟกลางวันอาจจะใช้ไป 5 หน่วย อีก 15 หน่วย ถ้าไม่ได้ขาย และไม่ยอมให้เราใช้ Net Metering การไฟฟ้าก็จะได้ไปฟรีๆ แต่ถ้าเราขายก็จะได้ 15 หน่วย ในราคาหน่วยละ 2.20 บาท

โซลาร์รูฟ รัฐบาลทำให้ง่ายที่สุดเลยให้ประชาชนเต็มที่ 5 กิโลวัตต์ ไม่ต้องให้ยุ่งยาก ไม่ต้องให้วิศวกรชำนาญการเซ็นรับรองความมั่นคงของหลังคาถึงติดตั้งได้ แล้วก็แจ้ง กฟผ.เท่านั้น แล้วก็ใช้ระบบ Net Metering แค่นี้

ประชาชนที่พอมีรายได้ก็จะสามารถติดตั้งได้ แต่สำหรับคนที่ไม่สามารถจ่ายเงินก้อน ถ้าไม่มีระบบการผ่อนด้วยค่าไฟที่เราผลิต ก็ให้สถาบันการเงินยอมให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ

ตนเพิ่งถามคนที่เคยมาติดตั้งให้ ติดโซลาร์รูฟตอนนี้ 3 กิโลวัตต์ 9.2 หมื่นบาท คืนทุนภายใน 4 ปี 6 เดือน เป็นแบบไม่มีแบตเตอรี่

เพียงแต่ปลดล็อกพวกนี้ 5 กิโลวัตต์แรก ที่ประชาชนติดไม่ต้องขออนุญาต มันมีน้ำหนักเบาไม่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักอยู่แล้ว และสามารถหักลบกลบหน่วยได้ ส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งได้แล้ว พรรคที่เสนอนโยบายนี้ปลดล็อกด้วย ไม่ใช่ติดให้อย่างเดียว ทำให้ราคามีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพดี ให้การไฟฟ้ามาทำเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น