xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.จ่อยื่นสมุดปกขาวชงรัฐบาลใหม่รับกังวลงบปี 67-68 ล่าช้า-ขึ้นค่าแรงก้าวกระโดด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.เตรียมจัดทำสมุดปกขาวยื่นรัฐบาลใหม่หวังเพิ่มขีดแข่งขันของประเทศ กังวลงบประมาณปี 67-68 ล่าช้ากระทบ ศก. หวังจะได้นายกฯ โดยเร็ว ขณะที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำลั่นต้องคุยก่อนและควรผ่านไตรภาคีหากปรับแบบก้าวกระโดดกระทบขีดแข่งขันฉุด FDI หนุนเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า สานต่อ BCG EEC

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท.อยู่ระหว่างจัดทำสมุดปกขาวเพื่อที่จะนำเสนอรัฐบาลใหม่ โดยข้อเสนอจะคล้ายกับการประชุมสามัญประจำปี 2566 ที่ ส.อ.ท.จัดขึ้นและเชิญ 9 พรรคการเมืองมาดีเบตเมื่อ 28 มี.ค. 66 ไปแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญขณะนี้คือการเร่งจัดตั้งรัฐบาลและการตั้งนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากได้ในช่วง ก.ย.-ต.ค. 66 ไทยจะมีช่วงสุญญากาศ 4-5 เดือนที่จะกระทบต่อการใช้เงินงบประมาณปี 2567 และจัดทำงบปี 2568 จึงอยากให้เร่งโดยเร็วเพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้า

“เรากำลังทำข้อเสนอหรือ Position Paper ถึงรัฐบาลใหม่อยู่คิดว่าจะตรวจรับปลายเดือนนี้ จากนั้นก็เข้ากรรมการบริหารอนุมัติเพื่อยื่นรัฐบาลใหม่ ส.อ.ท.เราพร้อมทำงานกับทุกรัฐบาลเพราะเรามองความมั่นคงของชาติ เรามองไปที่ตั้งนายกฯเพราะถ้าได้นายกฯ เดือน ก.ย.-ต.ค. งบประมาณปีนี้จะใช้อย่างไรเราอยากให้เร่งเร็วๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รีบๆ ตั้งเถอะ อย่าทะเลาะกันเลย อยากเห็นประเทศชาติเดินหน้า” นายมนตรีกล่าว

สำหรับข้อเสนอที่เราจะจัดทำเพื่อส่งให้รัฐบาลใหม่นั้น หลักๆ ได้แก่ การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยที่ขณะนี้ได้ลดลง โดยการปรับโครงสร้างกฎระเบียบภาครัฐ 1,000 ฉบับที่เคยศึกษาไว้ที่จะช่วยลดงบประมาณได้กว่า 9 หมื่นล้านบาท และหนึ่งในศักยภาพของการเพิ่มขีดแข่งขันคือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่ส.อ.ท.เองมีความกังวลเพราะมีการหาเสียงไว้ขึ้นแบบก้าวกระโดดไปที่ 450-600 บาทต่อวัน จึงควรที่จะเน้นไปที่การเพิ่มค่าแรงจากทักษะฝีมือแรงงานมากกว่า ขณะเดียวกันการขึ้นค่าแรงก็ต้องมองควบคู่กับการลดค่าครองชีพด้วยเพราะไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่เมื่อขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วค่าครองชีพก็ขึ้นก็จะวนเวียนไปเช่นนี้

“รัฐต้องเข้าใจค่าแรงขั้นต่ำที่จะต้องผ่านการพิจารณาโดยไตรภาคีที่ต้องมองหลายปัจจัย ที่ผ่านมาก็เห็นว่าการขึ้นแบบก้าวกระโดดจะลดขีดแข่งขันของประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI จะลดด้วย และอย่าลืมการขึ้นขั้นต่ำส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ที่แรงงานจากเพื่อนบ้านและเงินนี้จะหมุนเวียนไม่เต็ม 100% ในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะแรงงานเหล่านี้จะกันเงินราว 50% ส่งกลับไปยังบ้านเกิด” นายมนตรีกล่าว

ส่วนข้อเสนออื่นๆ คือ การสนับสนุนเปิดเสรีไฟฟ้า ที่เราเห็นตรงกับพรรคการเมืองว่าต้องปรับโครงสร้างใหม่เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันโดยเฉพาะระดับนโยบายต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม และนโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลเดิมทำได้ดีอยู่แล้วก็อยากให้สานต่อหรือต่อยอด เช่น การสนับสนุนเศรษฐกิจ BCG เพื่อยกระดับสินค้าส่งออกของไทยให้เป็นสินค้าสีเขียว การขยายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ไปยังภาคต่างๆ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคเหนือ (NEC ) ฯลฯ การเจรจาต่างประเทศเพื่อขยายความร่วมมือการค้าเสรี หรือ FTA ใหม่ๆ โดยเฉพาะ FTA กับกลุ่ม GCC อเมริกาใต้ การลดต้นทุนลอจิสติกส์ของประเทศ เป็นต้น


นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานส.อ.ท.กล่าวเสริมว่า ส.อ.ท.ยังมองการจัดตั้งรัฐบาลเป็นแบบบวก (Positive) ว่าจะดำเนินการได้ และหากมองนโยบายพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยมีหลักการคล้ายกันแต่ต่างวิธีการทำเท่านั้น โดยการปรับขึ้นค่าแรงเป็นอีกนโยบายหนึ่งที่ห่วงเพราะหากขึ้นเร็วและก้าวกระโดดจะกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SME) ขณะที่รายใหญ่มีศักยภาพในการจ่ายเพิ่มอยู่แล้วแต่ก็จะไปหนุนให้ใช้ระบบหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรกลมากขึ้น ซึ่ง ส.อ.ท.เองไม่ได้คัดค้านการขึ้นแต่อยากให้ตัวเลขสอดคล้องกับข้อเท็จจริง จึงหวังว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะหารือกันบนข้อมูลก่อนตัดสินใจ

“หลายนโยบายเป็นประชานิยม ซึ่งทางประธานส.อ.ท.เองก็ระบุไว้ชัดว่าทำได้แต่ต้องพอดี ต้องมีแหล่งที่มาของเงินรายได้ด้วย ซึ่ง ส.อ.ท.เองยินดีให้ข้อมูลและทำงานร่วมกัน” นายวิวรรธน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น