xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนเกาะติดนโยบายขึ้นค่าแรงรัฐบาลใหม่ ค้านขึ้นทันทีแบบก้าวกระโดดหวั่นซ้ำเติม ศก.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอกชนจับตาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหลังพรรคการเมืองชูหาเสียง แตะเบรกห้ามการเมืองเข้าแทรกแซง ปล่อยให้กลไกคณะกรรมการไตรภาคีทำงาน หวังปรับกฎหมายป้องการเมืองใช้หาเสียงและแทรกแซงกลไกไตรภาคี ผวาขึ้นค่าแรงแบบเต็มคาราเบลก้าวกระโดด หวั่นซ้ำเติม ศก. ธุรกิจเจ๊งซ้ำรอยนโยบาย 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า นโยบายการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2566 คงต้องติดตามว่ารัฐบาลใหม่พรรคใดจะเป็นแกนนำในการจัดตั้ง โดยไม่ว่าจะเป็นขั้วการเมืองฝ่ายใดสิ่งสำคัญคือการพิจารณาค่าแรงต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยผ่านคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากผู้ประกอบการ ผู้ใช้แรงงาน และภาครัฐ ดังนั้นรัฐควรจะปรับกฎหมายหรือมาตรการใดๆ ในการป้องกันการเมืองเข้าแทรกแซงเพื่อไม่ให้การเมืองใช้หาเสียงและมาดำเนินการอย่างไม่เหมาะสม

"ผมคิดว่าควรแก้ไขกฎหมายในการป้องกันการแทรกแซงจากการเมือง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.เองต้องมาดูกลไกการขึ้นค่าจ้างของแต่พรรคหรือไม่ หรือไม่ก็ว่าด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานที่จะมีกลไกใดในการกำหนดห้ามการเมืองแทรกแซง" นายธนิตกล่าว

ปัจจุบันพรรคการเมืองได้มีการชูนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหลักๆ เช่น พรรคเพื่อไทยจะปรับเป็น 600 บาทต่อวันในอีก 5 ปี ปีแรกเป็น 400 บาทต่อวันแต่ไม่ได้ระบุปีไหน ขณะที่พรรคก้าวไกลปรับขึ้นทันที 450 บาทต่อวันและปรับขึ้นทุกปี รวมถึงกำหนดเวลาทำงานต่อสัปดาห์หรือให้หยุดเสาร์-อาทิตย์ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 400-425 บาทต่อวันแต่ไม่ชัดเจนว่าเริ่มปีไหน เป็นต้น ซึ่งยอมรับว่านโยบายของบางพรรคค่อนข้างน่ากังวลเพราะปรับขึ้นค่อนข้างมากและแต่ละพรรคก็ไม่ชัดเจนว่าจะปรับเท่ากันทั่วประเทศอีกหรือไม่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการปรับค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศเคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่คัดค้านเพราะมีผลกระทบค่อนข้างมากและต่อมาในยุคของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยกเลิก เพราะต้องเข้าใจว่าค่าแรงควรสอดรับกับภาวะเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ และหากเท่ากันจะไม่เกิดการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค การลงทุนจะกระจุกตัวในเมืองที่มีระบบลอจิสติกส์ที่ดี

“การปรับค่าแรงขั้นต่ำต้องคำนึงถึงภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเศรษฐกิจ ศักยภาพการจ่ายของผู้ประกอบการและขีดแข่งขันประเทศ เพราะหากปรับขึ้นเงินเดือนทั้งค่าจ้างขั้นต่ำ รวมไปถึงราชการ ที่พรรคการเมืองระบุไว้แบบก้าวกระโดดจะทำให้ราคาสินค้าของไทยแพงขึ้น และท่ามกลางเศรษฐกิจตกต่ำที่ส่งออกก็ลำบาก สินค้าจีน และเพื่อนบ้านที่มีราคาต่ำจะทะลักเข้ามา ที่สุดโรงงานอยู่ไม่ได้ปิดกิจการจะกระทบต่อการจ้างงาน” นายธนิตกล่าว


นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการสายงานแรงงาน กล่าวว่า การที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้เรื่องค่าแรงขั้นต่ำนั้น ส.อ.ท.มองว่ารัฐบาลใหม่ควรปล่อยให้เป็นกลไกของคณะกรรมการไตรภาคีที่จะมีการพิจารณาถึงความเหมาะสม หากมีการขึ้นค่าแรงตามนโยบายหาเสียงทันทีในอัตราที่สูงแบบก้าวกระโดดจะกระทบต่อธุรกิจที่กำลังเริ่มฟื้นตัวโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME คงเป็นภาระหนักอาจจะปิดกิจการเหมือนคราวการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศได้

ปัจจุบันไทยยังคงมีการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะแรงงานไร้ทักษะที่ต้องอาศัยจากประเทศเพื่อนบ้านอีกราว 2-3 แสนคน ซึ่งล่าสุดกระทรวงแรงงานกำลังจะมีการลง MOU กับประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมอีกในเร็วๆ นี้ เพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบถูกกฎหมายอีก 500,000 คน ภายหลังจากสถานการณ์การสู้รบในประเทศเพื่อนบ้านเริ่มคลี่คลาย และเศรษฐกิจในไทยเริ่มฟื้นตัว และเป็นการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายไปด้วย โดยแรงงานภายใต้การลงนามนี้สามารถรวมกับแรงงานที่ทำงานในไทยอยู่แล้ว แต่เกิดปัญหาเช่นใบอนุญาตทำงานหมดอายุก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่ต้องเดินทางไปแค่ชายแดนแล้วทำโดยไม่จำเป็นต้องข้ามแดนไป ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติเห็นชอบในหลักการไปแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ โดยที่ผ่านมาภายใต้เงื่อนไขนี้ทำให้ไทยมีแรงงานต่างด้าวเข้าระบบถูกต้องได้มากถึง 1.8 ล้านคน
กำลังโหลดความคิดเห็น