xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวแต่ยังเปราะบาง จับตารัฐบาลใหม่ชี้ชะตาปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุขสันต์วันแรงงาน!!! ทุกวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีถือเป็นวัน May day หรือวันแรงงานสากล แม้ขณะนี้สถานการณ์การจ้างงานเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยวและบริการที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาไทยอีกครั้ง แต่ก่อนหน้าที่โควิด-19 ระบาด 2-3 ปีที่ผ่านมาแรงงานหลายคนต้องเผชิญมรสุมชีวิตด้วยการที่นายจ้างให้ออกจากงานเพราะธุรกิจจำเป็นต้องลดแรงงานเพื่อลดต้นทุน หรือบางรายถึงขั้นปิดกิจการเพราะไปต่อไม่ไหว ฯลฯ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการที่โดนหนักสุดเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปทั้งหมด ส่งผลให้ในปี 2564 มีการรายงานถึงจำนวนแรงงานตกงานถึง 6 ล้านคน และจำนวนผู้ที่ออกจากระบบประกันสังคมสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.2 ล้านคน

แม้การจ้างงานเริ่มจะฟื้นตัวแต่สถานการณ์ด้านแรงงานหลังโควิด-19 (Post Covid-19) ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง โดยก่อนหน้านี้แรงงานเองต้องเผชิญการถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) แต่การมาของโควิด-19 กลายเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการยิ่งหันมาใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ แขนกลอัตโนมัติ และระบบดิจิทัลเพื่อลดแรงงานคนในการลดความเสี่ยงของธุรกิจมากขึ้น หลายธุรกิจเลือกที่จะให้พนักงานบางส่วนทำงานที่บ้าน (Work From Home) แบบถาวร การค้าขายปรับสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) มากขึ้น รวมไปถึงแรงงานส่วนหนึ่งหันไปประกอบอาชีพอิสระ (Self-employed / Gig Workers) ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานล้วนต้องปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง

ปัจจุบันตลาดแรงงานไทยเผชิญวิกฤต 2 ด้าน กล่าวคือ มีทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ทักษะหรือเน้นใช้แรงงานที่ต้องอาศัยพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านที่ปัจจุบันขาดแคลนราว 2-3 แสนคน รวมถึงแรงงานมีทักษะที่เป็นเฉพาะกลุ่ม เช่น ช่างไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ไทยเองก็มีแรงงานว่างงานโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่จบระดับปริญญาตรีในสาขาที่นายจ้างต้องการน้อยแต่จบการศึกษามาค่อนข้างสูง แต่ที่น่ากังวลคือแรงงานจบใหม่ค่อนข้างเลือกงานและมุ่งเน้นทำอาชีพอิสระมากกว่าอดีต ต้องการวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ประกอบกับตลาดแรงงานไทยยังเผชิญกับสังคมสูงวัย แถมอัตราเกิดใหม่ต่ำโดยมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าเกิดใหม่เหล่านี้ล้วนบั่นทอนให้ตลาดแรงงานไทยยังคงเปราะบางสูง

นอกจากนี้ โควิด-19 ที่กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตที่ผ่านมาได้หนุนให้หลายประเทศต้องมาทบทวนการผลิตให้ครบวงจรและพึ่งพาตนเองมากขึ้น และเมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ภูมิรัฐศาสตร์โลกเริ่มแบ่งขั้วและนำมาซึ่งราคาวัตถุดิบ น้ำมัน อัตราดอกเบี้ย ที่สูง เหล่านี้ล้วนกดดันให้หลายประเทศเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อเช่นเดียวกับไทยที่แรงงานกำลังเผชิญกับภาวะข้าวของแพง ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ สารพัดค่า ... ยกเว้นค่าแรงที่ปรับขึ้นน้อยมากในสายตาของลูกจ้างที่ไม่พอกับรายจ่าย จึงหนุนให้หนี้ภาคครัวเรือนของไทยยังมีแนวโน้มสูงขึ้นและส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนในประเทศถดถอยตามลำดับ

จับตาการเมืองกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

ปัจจุบันรัฐบาลได้ยุบสภาทำให้เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ… ดังนั้นคงต้องไปรอลุ้นจากรัฐบาลใหม่แทน ซึ่งหากจับทิศจากการหาเสียงเรื่องค่าแรงก็พบว่ามีพรรคการเมืองหลักๆ ยังคงชูเป็นนโยบายขับเคลื่อนอยู่ เช่น พรรคเพื่อไทยมีนโยบายเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2570 แถมด้วยหากจบปริญญาตรี หรือทำงานราชการเงินเดือนเริ่มต้น 25,000 บาท ภายในปี พ.ศ. 2570 พรรคก้าวไกล ชูนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทุกปี เริ่มต้นทันทีวันละ 450 บาทและลดชั่วโมงทำงานหรือกล่าวง่ายๆ ให้หยุดเสาร์-อาทิตย์ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังคงสานนโยบายเดิมว่าด้วยการขึ้นค่าแรง 400-425 บาทต่อวัน เป็นต้น

การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้กลายเป็นนโยบายประชานิยมที่เคยสร้างความฮือฮาให้ผู้ใช้แรงงานมาแล้ว สะท้อนจากในปี พ.ศ. 2555-2556 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้ชูค่าแรง 300 บาทต่อวันเมื่อเป็นรัฐบาลก็ทำทันที ครั้งแรกในวันที่ 1 เม.ย. 2555 ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวันใน 7 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต ต่อมาในวันที่ 1 ม.ค. 2556 ได้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของอีก 70 จังหวัดที่เหลือเป็น 300 บาทเท่ากันทั้งหมด โดยจังหวัดที่ถูกปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมากที่สุดคือจังหวัดพะเยา ซึ่งถูกปรับจาก 159 บาทเป็น 300 บาท โดยทำให้เฉลี่ยแล้วค่าแรงทั่วประเทศเพิ่มขึ้นถึงกว่า 70%

อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานโดยรวมได้จริงและโดนใจแรงงานสุดๆ ในระยะแรก แต่ผลกระทบที่ตามมาในระยะกลางและยาวโรงงานหลายแห่งทยอยปิดกิจการเพราะไม่อาจทนพิษค่าจ้างที่ปรับขึ้นมากได้โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กและใช้แรงงานเข้มข้น ขณะเดียวกันค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศได้ทำให้อุตสาหกรรมที่กระจายสาขาการผลิตไปยังต่างจังหวัดที่อาศัยค่าแรงต่ำต้องปิดลงไปเพราะต้นทุนโลจิสติกส์สูงกว่าไม่อาจแข่งกับการผลิตในเมืองได้ หันมากระจุกในตัวเมืองแทนกระทบต่อนโยบายการกระจายรายได้

ต่อมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงโดยการขึ้นค่าแรงอีกครั้งจาก 300 บาทต่อวัน เป็น 305-310 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2560 นับเป็นการยกเลิกการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศในครั้งนี้ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงด้วยการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็น 308-330 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย. 2561 และภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ (2) ประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็น 313-336 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2563 และล่าสุดปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328-354 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ซึ่งการพิจารณาได้ดำเนินการผ่านคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ที่ประกอบด้วยตัวแทนจากรัฐ นายจ้างและลูกจ้าง

 ปี 66 ปัจจัยหนุน-เสี่ยงต่อการขึ้นค่าจ้าง


ค่าแรงขั้นต่ำเป็นที่ถกเถียงกันมานานและฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างมีการปรับตัวในความพยายามที่จะเสนอค่าจ้างให้เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย แต่ปัญหาคือคนส่วนใหญ่รับค่าจ้างขั้นต่ำแต่ไม่มีหลักประกันในการทำงานเพราะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองว่าจะสอดรับหรือไม่ทำให้ไม่สามารถวางแผนอนาคตได้ คนงานส่วนใหญ่ต้องทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง จึงจะเห็นว่าฝ่ายลูกจ้างพยายามเสนอแนวทางให้เป็นระบบโครงสร้างค่าจ้างแทนคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำและมีการปรับทุกปีโดยอิงกับดัชนีค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ เพื่อพิจารณาว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างเท่าไหร่ โดยที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าเมื่อค่าจ้างเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองก็จะเข้าไปแทรกแซงกลไกเจรจาต่อรอง ปัจจุบันแรงงานของไทยมีประมาณ 40 ล้านคน แต่การรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงานมีเพียง 6 แสนคนซึ่งกลไกในการเจรจาต่อรองจึงไม่เกิดขึ้น นับเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องหาทางออก

นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นผู้ที่ได้รับประโยชน์จริงในปัจจุบันคือกลุ่มแรงงานต่างด้าว ขณะที่แรงงานไทยส่วนใหญ่แล้วจะได้ค่าแรงที่สูงอยู่แล้วเนื่องจากส่วนใหญ่จบระดับปริญญาตรี ขณะที่แม้จะจบวุฒิการศึกษาระดับ ปวส. ปวช. เองตลาดแรงงานก็ต้องการคนกลุ่มนี้ค่อนข้างสูงทำให้อัตราค่าจ้างไม่ได้ต่ำและมีการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือที่ภาพรวมก็สูงขึ้นไปอีก...นี่เป็นบริบทที่พรรคการเมืองจำเป็นต้องเรียนรู้ที่ควรผลักดันการเพิ่มทักษะแรงงานเพื่อปรับอัตราค่าจ้างในทุกปีมากกว่าในการเข้าถึงแรงงานในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในภาคการจ้างงานที่เป็นทางการซึ่งก็คือแรงงานนอกระบบที่ถือเป็นกำลังสำคัญของประเทศแต่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายประกันสังคม แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระเป็นกิจการขนาดเล็ก และมีลักษณะเป็นธุรกิจในครัวเรือนซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้น้อย แม้กฎหมายประกันสังคมจะเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้โดยสมัครใจตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 อีกทั้งยังได้มีการแก้ไขปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนตามมาตรานี้ให้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีความไม่เท่าเทียมกับแรงงานในระบบประกันสังคมที่มีนายจ้าง

โดยปี 2565 ไทยมีแรงงานที่มีงานทำทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ 20.2 ล้านคน ทำให้เห็นชัดเจนเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบที่ต้องลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากไม่มีรายได้ประจำ อีกทั้งบางอาชีพของแรงงานนอกระบบขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวค่อนข้างมากแม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายแต่หลายอาชีพที่เป็นแรงงานนอกระบบก็ยังไม่ได้กลับมาทั้งหมด

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำหากยึดการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีจะมีการคำนึงถึงภาวะโครงสร้างกำลังแรงงานและดัชนีผู้บริโภคของแต่ละพื้นที่หรือจังหวัดไม่เท่ากันจึงทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่เท่ากันทั่วประเทศ โดยในปี 2566 หากพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ในการปรับขึ้นค่าจ้างที่ไตรภาคีจะนำมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิจารณา ได้แก่ ดัชนีค่าครองชีพและเงินเฟ้อ เศรษฐกิจประเทศ ความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการ ขีดแข่งขันของประเทศ ซึ่งหากพิจารณาปัจจัยที่หนุนการปรับเพิ่มคงหนีไม่พ้นค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้นอย่างมาก แต่ขณะที่เศรษฐกิจไทยนั้นต้องยอมรับว่ายังคงเปราะบางโดยเฉพาะภาคส่งออกที่ปี 2566 ยังเสี่ยงที่อาจจะไม่เติบโตหรือเลวร้ายสุดคือติดลบเพราะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมการเมืองที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ว่าพรรคใดจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและจับมือกับขั้วไหน เพราะแน่นอนว่าหากเป็นพรรคที่ชูการหาเสียงด้านค่าแรงไว้ค่อนข้างมากก็ต้องขับเคลื่อนตามแผนที่วางไว้ซึ่งบางพรรคนั้นขึ้นแบบก้าวกระโดด หากทำจริงคงป่วนแน่นอน … ทำให้ผู้ประกอบการและภาคแรงงานยังคงต้องติดตามใกล้ชิด
กำลังโหลดความคิดเห็น