“ราช กรุ๊ป” คาดไตรมาส 2/2566 มีผลดำเนินงานดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เหตุรับรู้รายได้จากการลงทุนโรงไฟฟ้าในพอร์ตเน็กส์ซิฟ และปิดดีลโรงไฟฟ้าไพตัน ที่อินโดนีเซียช่วง มิ.ย.นี้ อัดงบลงทุนในปีนี้ 3.5 หมื่นล้านบาท ลุยทั้งธุรกิจไฟฟ้า และ Non-Power
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2566 จะเติบโตขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 17,005 ล้านบาทและกำไรสุทธิ 1,448 ล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าใหม่ รวมทั้งจะเร่งปิดดีลการเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนไพตัน ประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตติดตั้ง 2,045 เมกะวัตต์ ตามแผนงานจะปิดดีลได้ในช่วง มิ.ย.นี้ ทำให้รับรู้รายได้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ แต่หากปิดดีลได้เร็วก็ทำให้บริษัทรับรู้รายได้เร็วขึ้น โดยบริษัทฯ จะรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการถือหุ้นโรงไฟฟ้าไพตันเฉลี่ยปีละ 2,500 ล้านบาท และรับรู้รายได้สินทรัพย์ที่ลงทุนในพอร์ตเน็กส์ซิฟ มากกว่าไตรมาส 1/2566 ที่รับรู้รายได้ราว 1,479 ล้านบาทจากโรงไฟฟ้าราช เอ็นเนอร์จี ระยอง 98 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานลมลินคอล์น แก็ป 1&2 กำลังผลิตรวม 212 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติสแนปเปอร์ พอยท์ ขนาด 154 เมกะวัตต์ ในออสเตรเลีย โรงไฟฟ้าพลังน้ำค็อคซาน 17.37 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำซ็องเกียง 2 กำลังผลิต 17.10 เมกะวัตต์ ในเวียดนาม
ในปีนี้ ราช กรุ๊ปได้ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 35,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าเดิมและใหม่ โดยวางเป้าหมายมีกำลังผลิตเพิ่มไม่น้อยกว่า 700 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 29,000 ล้านบาท เน้นการลงทุนในประเทศที่มีฐานการผลิตอยู่แล้วในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย ออสเตรเลีย ส่วนเวียดนามจะชะลอการลงทุนโครงการใหม่ จนกว่าแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าเวียดนาม (พีดีพีฉบับ 8) จะแล้วเสร็จ ส่วนงบลงทุนอีก 6,000 ล้านบาทจะใช้ในธุรกิจที่ไม่ใช่ไฟฟ้า (Non-Power) เน้นพลังงานแสงอาทิตย์ในไทยทุกรูปแบบ รวมถึงโซลาร์รูฟท็อปและโซลาร์ลอยน้ำ การผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น รวมถึงการขยายธุรกิจด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
ส่วนความคืบหน้าการทำ M&A โรงไฟฟ้าใหม่ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา โดยกระจายการลงทุนในรูปแบบ Green Field และโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วซึ่งเน้นในประเทศที่บริษัทฯ มีฐานการผลิตอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย
นางสาวชูศรีกล่าวถึงนโยบายลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชนของรัฐบาลใหม่ว่า บริษัทฯ เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถกำกับดูแล (Regulator) ค่าไฟฟ้าเพื่อไม่ให้ประชาชน และภาคอุตสาหกรรมเดือดร้อน ซึ่งบริษัทฯ ก็เห็นด้วยว่าควรจะทำ แต่รัฐบาลก็ควรดูให้ดีว่าจะกำกับดูแลอย่างไรเพื่อให้ประชาชนไม่เดือดร้อน และการลงทุนของประเทศยังไปได้ ส่วนการแก้ไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (พีพีเอ) หรือการชะลอจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ออกไปก่อน เป็นเรื่องที่ยาก เพราะกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ
นอกจากนี้ควรคำนึงถึงนโยบายระยะยาวด้วย และเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามาบริหารประเทศคงหนีไม่พ้นเรื่องพลังงานสีเขียว โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) แต่ก็จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าพลังงานหลักควบคู่กันด้วยเพื่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ
สำหรับผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้รวม 17,005 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,448 ล้านบาท ลดลง 8.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งบริษัทฯ เริ่มรับรู้รายได้จากสินทรัพย์โรงไฟฟ้าที่ลงทุนใหม่ ซึ่งช่วยเสริมหนุนผลประกอบการของบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจไฟฟ้ายังคงสร้างรายได้หลักให้บริษัทฯ เป็นจำนวน 16,494 ล้านบาท คิดเป็น 97% ของรายได้รวม โดยเป็นรายได้จากกลุ่มโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล จำนวน 14,603 ล้านบาท หรือ 88.5% และรายได้จากกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน 1,891 ล้านบาท หรือ 11.5% ส่วนกลุ่มธุรกิจ Non-Power เริ่มรับรู้รายได้เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1/2566 มีจำนวน 511 ล้านบาท คิดเป็น 3% ของรายได้รวม