WHAUP แจ้งผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิ 257 ล้านบาท โตขึ้น 229% รับอานิสงส์ค่า Ft ปรับเพิ่มสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิง เร่งเดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเพิ่มทั้งในไทยและต่างประเทศ
นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (WHAUP) เปิดเผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2566 ว่า บริษัทฯ รับรู้รายได้และส่วนแบ่งกำไรปกติ จำนวน 813 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 257ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 229 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า SPP ที่เพิ่มขึ้น จากการที่ค่า Ft ได้ปรับขึ้นให้สะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติและภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ. ทำให้อัตรากำไรในส่วนของไฟฟ้าที่จำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมฟื้นตัว
โดยในไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีปริมาณการจำหน่ายและบริหารน้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกันเท่ากับ 35 ล้านลูกบาศก์เมตร ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยภาพรวมปริมาณจำหน่ายและบริหารน้ำในประเทศลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันจากปีก่อน เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่บางส่วนมีการหยุดซ่อมบำรุง ทำให้ความต้องการใช้น้ำอุตสาหกรรมลดลง อย่างไรก็ตามยังคงเห็นการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องในส่วนของความต้องการใช้น้ำมูลค่าเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นน้ำปราศจากแร่ธาตุ (Demineralized Water) และน้ำอุตสาหกรรมคุณภาพสูง (Premium Clarified Water)
ขณะที่ธุรกิจน้ำในเวียดนามงวดไตรมาส 1/2566 ยังคงส่งสัญญาณการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ มียอดจำหน่ายน้ำรวมตามสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 15 จากปริมาณการจำหน่ายน้ำของโครงการ Duong River ที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศของเวียดนาม และการขยายฐานลูกค้าและพื้นที่ในการให้บริการน้ำประปาที่ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้บริษัทฯ ได้รับประโยชน์จากการที่ภาครัฐของเวียดนามอนุมัติให้มีการปรับราคาขายน้ำเพิ่มขึ้นตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมา
ธุรกิจพลังงาน บริษัทฯ มีส่วนแบ่งกำไรปกติจากธุรกิจไฟฟ้าในไตรมาส 1/2566 จำนวน 190 ล้านบาทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญร้อยละ 177 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของส่วนแบ่งกำไรจากกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP เนื่องจากค่า Ft ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนก๊าซธรรมชาติและภาระต้นทุนคงค้างของ กฟผ มาอยู่ที่ 1.549 บาทต่อหน่วย ทำให้ในส่วนของการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น
ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ รับรู้รายได้ทั้งสิ้น 111 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 113 จากปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 94 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบ Private PPA เพิ่มจำนวน 10 สัญญา คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 16 เมกะวัตต์ ทำให้ ณ ไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีจำนวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการ Private PPA จากพลังงานแสงอาทิตย์สะสมจำนวน 149 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) รวมทั้งหมดจากโรงไฟฟ้าทุกประเภทตามสัดส่วนการถือหุ้นจำนวน 699 เมกะวัตต์
นายสมเกียรติกล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าขยายการลงทุนโครงการใหม่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากขยะอุตสาหกรรม และพลังงานประเภทอื่นๆ เพื่อให้บรรลุเป้ายอดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสะสมเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี
ล่าสุดบริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ระยะแรก (เฟส 1) สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง (installed capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญา PPA ได้ภายในปีนี้และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในช่วงปี 2572-2573