กรมการค้าต่างประเทศเผยไทย-มาเลเซียตกลงใช้ระบบการลงลายมือชื่อและประทับตราด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) กับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E ภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ดีเดย์ 1 มิ.ย. 66 เป็นต้นไป เป็นภาคีลำดับที่ 2 ที่ใช้ระบบนี้ เตรียมผลักดันประเทศอื่นใช้เพิ่ม คาดส่งผลดี อำนวยความสะดวก ลดถูกตรวจสอบ
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2566 เป็นต้นไป ไทยและมาเลเซียได้ตกลงที่จะใช้ระบบการลงลายมือชื่อและประทับตราด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal : ESS) มาใช้กับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ภายใต้กรอบ FTA อาเซียน-จีน (ACFTA) สำหรับการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากมาเลเซียแทนแนวปฏิบัติปัจจุบันที่ใช้วิธีการลงลายมือชื่อและประทับตราแบบสดด้วยมือ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยและมาเลเซียได้มีการหารือแบบทวิภาคีร่วมกันผลักดันการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศให้กับภาคเอกชน
สำหรับรายละเอียดการใช้ระบบ ESS เครื่องพิมพ์จะพิมพ์ลายมือชื่อและตราประทับของผู้มีอำนาจลงนามในหนังสือรับรองออกมาจากเครื่องพร้อมกับข้อมูลอื่นๆ ซึ่งจะปรากฏบนหนังสือรับรอง และหลังจากที่ได้รับการอนุมัติ ผู้ประกอบการสามารถเดินทางมารับเอกสารเพื่อนำไปใช้สิทธิประโยชน์ที่ประเทศปลายทางโดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ลงลายมือชื่อและประทับตราแบบสดบน Form E
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาภายใต้กรอบ ACFTA มีการใช้ระบบ ESS ในการออกหนังสือรับรอง Form E สำหรับการส่งออกไปจีนเท่านั้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยมาเลเซียจะเป็นประเทศภาคี ACFTA ลำดับที่ 2 ที่ใช้ระบบดังกล่าว สำหรับประเทศภาคีอื่นภายใต้ ACFTA กรมฯ จะผลักดันการใช้ระบบ ESS อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้สามารถใช้ ESS กับประเทศภาคีอื่นๆ ได้ต่อไป
“การออก Form E รูปแบบ ESS จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ส่งออกในขั้นตอนการออกหนังสือรับรอง และลดอัตราการถูกศุลกากรประเทศปลายทางตรวจสอบความถูกต้องของลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนาม โดยในปี 2563-2565 มีมูลค่าการขอใช้สิทธิ Form E สำหรับการส่งออกไปมาเลเซียประมาณ 113 ล้านบาท” นายรณรงค์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2566 กรมฯ มีเป้าหมายจะเปิดใช้งานระบบการออกหนังสือรับรองรูปแบบใหม่ หรือที่เรียกว่าระบบ SMART C/O ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกให้ผู้ประกอบการสามารถพิมพ์หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้ารูปแบบ ESS ณ สถานที่ทำการของตนเองได้