แคนนอนปักหมุดเบอร์ 1 พรินเตอร์ วางสินค้าครอบคลุมทั้งอิงค์เจ็ท เลเซอร์ และเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ หวังปีนี้เติบโตสวนทางตลาด 10% ขณะที่ภาพรวมตลาดคาดว่าจะอยู่ที่ราว 7.7 แสนเครื่อง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 5-10%
ฮิโรชิ โยโกตะ ประธานบริษัทและประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดพรินเตอร์ของประเทศไทยว่า ยังมีโอกาสจากการที่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs เริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังจากผ่านสถานการณ์แพร่ระบาด
โดยจากปีที่ผ่านมาตลาดพรินเตอร์อิงค์เจ็ทในไทยอยู่ที่ 8.4 แสนเครื่อง เป็นเครื่องพิมพ์แท็งก์แท้ราว 6.4 แสนเครื่อง หรือราว 76% และคาดว่าในปีนี้สัดส่วนจะใกล้เคียงเดิม แต่เชื่อว่าตลาดจะปรับตัวลดลง 5-10% อยู่ที่ราว 7.7 แสนเครื่อง
“สินค้าเครื่องพิมพ์ในส่วนของตลับหมึกยังคงได้รับความนิยมอยู่จากกลุ่มผู้ใช้ที่มีปริมาณงานพิมพ์ไม่สูง และราคาเครื่องค่อนข้างถูกทำให้ยังมีตลาดอยู่ ขณะที่ตลาดของแท็งก์แท้ที่มีระยะเวลาใช้งานเฉลี่ยสูงขึ้นทำให้กระทบสภาพตลาดโดยรวม”
โนริฮิโระ คาตางิริ รองประธานอาวุโส บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา แคนนอนประสบปัญหาเช่นเดียวกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ในแง่ของกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่าในปีนี้จะสามารถตอบรับความต้องการของตลาดได้อย่างเต็มที่
ปัจจุบัน แคนนอนนับเป็นผู้นำอันดับ 1 ในกลุ่มเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่า 32% เพียงแต่ถ้านับเฉพาะในกลุ่มแท็งก์แท้จะมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 28% เป็นอันดับ 2 ในตลาด และมั่นใจว่าจากไลน์อัปสินค้าที่เปิดตัวใหม่ในปีนี้จะช่วยให้แคนนอนสามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 ได้
“จากการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ ‘แคนนอน’ ในฝั่งของธุรกิจเครื่องพิมพ์จะเน้นไปที่ 4 แผนหลักในการทำตลาดปีนี้ ทั้งการขยายช่องทางจำหน่ายทั้งฝ่ายขาย และบริการ ถัดมาในส่วนของการสต๊อกสินค้าที่มั่นใจได้ว่ามีเพียงพอต่อความต้องการ พร้อมขยายการทำตลาดในลักษณะของโซลูชันมากขึ้น และปรับการสื่อสารการตลาดทั่วภูมิภาคให้เป็นในแนวทางเดียวกัน”
น.ส.เนตรนรินทร์ จันทร์จรัสสุข ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์คอนซูมเมอร์อิมเมจจิ้ง อินฟอร์เมชั่น บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า แม้ว่าในฝั่งของคอนซูเมอร์จะค่อนข้างนิ่ง แต่สิ่งที่แคนนอนต้องทำคือการนำสินค้าที่เข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อให้สามารถเติบโตเหนือตลาดได้
“ความต้องการของลูกค้าไม่เหมือนกัน แคนนอนไม่เชื่อว่าเครื่องพิมพ์รุ่นเดียวจะตอบโจทย์ได้หมด ทำให้ในการทำตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์จะมีหลากหลายรุ่น เพื่อเข้าไปตอบโจทย์ในทุกความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด”
ทำให้ในปีนี้ แคนนอนเลือกที่จะเติมไลน์สินค้าในกลุ่มของ Mini InkTank Printer เพราะมีกลุ่มลูกค้าที่ปริมาณการพิมพ์ไม่เยอะ แต่อยากได้เครื่องแท็งก์ ด้วยการทำราคาหมึกให้ถูกลงไม่ถึง 200 บาท ซึ่งยังสามารถพิมพ์ได้ 3,000-4,000 แผ่น รวมถึงการดูแลรักษาที่ง่ายมาทำตลาด
ขณะเดียวกัน ยังมองถึงโอกาสเติบโตในฝั่งของ B2B ทั้งในฝั่งของอิงค์เจ็ท เลเซอร์ และเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ เนื่องจากตลาดราชการ องค์กรธุรกิจ ทำให้ตลาด B2B เริ่มกลับมาใช้งานมากขึ้น รวมถึงการที่ตลาด SMEs ในไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีความต้องการใช้อุปกรณ์ในการดำเนินธุรกิจจึงหันมาโฟกัสลูกค้าในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น
โดยในปีนี้ แคนนอนได้เสริมไลน์สินค้าในกลุ่มของเลเซอร์พรินเตอร์เข้ามากว่า 13 รุ่น รวมถึงเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่แบบตั้งโต๊ะที่รองรับงานพิมพ์ได้ในขนาดสูงสุดที่ 60 นิ้ว ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่ยังมีความต้องการใช้ในงานพิมพ์อยู่
เป้าหมายในตลาดเลเซอร์คือการเพิ่มทางเลือกให้คู่ค้าสามารถนำเข้าไปเจาะในตลาดราชการได้ ขณะที่ในกลุ่มของเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่ตั้งเป้าจำหน่ายไว้ที่ 500 เครื่องภายในปีนี้ จากตลาดรวมที่คาดการณ์ว่าจะอยู่ราว 1,400 เครื่อง
เมื่อดูถึงแนวทางการทำตลาด และการมีสินค้าที่พร้อม ทำให้แคนนอนมั่นใจว่าปีนี้จะสามารถเติบโตสวนทางภาพรวมตลาดได้ โดยคาดหวังรายได้เพิ่มขึ้น 10% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้สัดส่วนของธุรกิจเครื่องพิมพ์แคนนอนเติบโตขึ้นด้วย