xs
xsm
sm
md
lg

ความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย. 66 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 11 เดือน สูงสุดในรอบ 38 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. 66 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และสูงสุดในรอบ 38 เดือน หลังคนรู้สึกเศรษฐกิจดีขึ้น จากท่องเที่ยวฟื้นตัวทั้งไทยและต่างชาติ การเลือกตั้งคึกคัก มีเม็ดเงินหมุนเวียน ราคาน้ำมันลดลง ผ่อนคลายค่าครองชีพ แต่ยังต้องจับตาค่าครองชีพสูงจากค่าไฟ กังวลสถาบันการเงินโลก สงคราม ขึ้นดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย ส่งออกลด

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน เม.ย. 2566 อยู่ที่ 55.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 2566 ที่ระดับ 53.8 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 38 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 38.0 เป็น 39.5 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 61.4 มาอยู่ที่ระดับ 62.5

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 49.4 52.0 และ 63.6 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน มี.ค. 2566 ที่อยู่ในระดับ 48.0 50.9 และ 62.5 ตามลำดับ

ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น มาจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งการท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ตลอดจนบรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งที่คึกคักทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สถาบันการเงินของโลก เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทย ทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลงและมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เพราะหลังการเลือกตั้งที่มีเงินสะพัดสูง และหากการเมืองไทย มีเสถียรภาพ ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเชื่อมั่นและเพิ่มการจับจ่ายมากขึ้น” นายธนวรรธน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น