xs
xsm
sm
md
lg

โพลคาดเปิดเทอมใช้จ่ายสะพัด 5.8 หมื่นล้าน เพิ่ม 5.30% สูงสุด 14 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลสำรวจผู้ปกครองรับเปิดเทอมปี 66 พบค่าใช้จ่ายสะพัดเฉียด 5.8 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 5.30% สูงสุดในรอบ 14 ปี เผยผู้ปกครองพร้อมที่จะจ่าย แต่จะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เหตุมีหนี้ครัวเรือนสูง พบบางรายต้องกู้เงิน กดเงินจากบัตรมาใช้จ่าย ส่วนโควิด-19 มีความกังวลน้อยลง ขอรัฐบาลใหม่จัดอาหารฟรี คุมราคาสินค้าการเรียน เลิกแป๊ะเจี๊ยะ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจผู้ปกครองด้านค่าใช้จ่ายบุตรหลานในการเปิดเทอมภาคการศึกษาปี 2566 ซึ่งเป็นการกลับมาสำรวจอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้ทำการทำสำรวจช่วงโควิดระบาดปี 2563-65 โดยสำรวจประชาชน 1,230 รายทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-5 พ.ค. 2566 ว่า ผู้ปกครอง 38% ระบุค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงเปิดเทอมปีนี้เพิ่มขึ้น และอีก 37.8% เห็นว่าเท่าเดิม โดยส่วนที่เพิ่มมาจากการใช้จ่ายค่าบำรุงโรงเรียน (แป๊ะเจี๊ยะ) และเครื่องแบบนักเรียนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายเปิดเทอมปีนี้อยู่ที่ 19,508 บาท/ครัวเรือน และคาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายโดยรวมจะอยู่ที่ 57,886 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.30% เทียบปี 2562 ที่มีมูลค่า 54,972 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ถือว่ามีมูลค่าสูงสุดนับจากที่ได้ทำการสำรวจมา 14 ปี

สำหรับบรรยากาศใช้จ่ายเปิดเทอมปีนี้ถือว่าคึกคักมาก เพราะการเรียนการสอนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยผู้ปกครองพร้อมที่จะใช้จ่าย แต่ก็ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เพราะยังมีหนี้ครัวเรือนในอัตราสูง โดยจะซื้อสินค้าน้อยลง และบางส่วนต้องใช้เงินออมออกมาซื้อของให้แก่บุตรหลาน บางส่วนต้องพึ่งพาเงินกู้ หรือเบิกเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ช่วงเปิดเทอม ผู้ปกครองมีความกังวลลดลง เพราะเด็กส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว และเชื่อว่าโรงเรียนมีการป้องกันที่ดี ส่วนการเรียนที่การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แทนไปโรงเรียนเห็นว่าจะเกิดผลเสียมาก และกังวลถูกหลอกและสิ้นเปลืองเงิน

ทางด้านการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับนโยบายพรรคการเมืองเกี่ยวกับด้านการศึกษา ผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นด้วยและต้องการในเรื่องการลดต้นทุน โดยอันดับแรก ต้องการให้มีอาหารฟรีสำหรับนักเรียน ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายหรือควบคุมราคาสินค้าเพื่อการเรียน ตามด้วยกำจัดระเบียบแป๊ะเจี๊ยะ และมีโรงเรียน 2 ภาษาในท้องถิ่น รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตร พัฒนาโรงเรียนรัฐบาลให้เทียบเท่าเอกชน และเพิ่มเวลาให้ครูสอนเด็ก เพื่อลดภาระด้านอื่น เช่น เรียนพิเศษ และค่าใช้จ่ายเดินทาง คงเงินกู้ผ่าน กยศ. เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น