ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจวันแรงงาน พบใช้จ่ายคึกคัก สะพัดกว่า 2 พันล้าน เพิ่ม 29.8% ระบุส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องรายได้ไม่พอรายจ่าย มีหนี้สูงขึ้น ขอรัฐบาลใหม่ดูแลสวัสดิการ สร้างงาน ลดค่าครองชีพ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ว่า วันหยุดแรงงานในปีนี้คาดว่าจะมีเงินสะพัด 2,067 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.8% โดยแรงงานส่วนใหญ่จะใช้จ่ายไปกับการซื้อสินค้า ท่องเที่ยว รับประทานอาหารนอกบ้าน ทำบุญ และสังสรรค์ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลาย และบางส่วนมองว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจยังพบว่าแรงงานส่วนใหญ่มีปัญหาในเรื่องของรายได้ไม่พอกับรายจ่าย ทำให้มีภาระหนี้ที่สูงขึ้น จากค่าครองชีพที่สูง และยังมีการกู้เงินเพื่อใช้ชำระหนี้ จึงก่อให้เกิดหนี้สะสม โดยภาระหนี้ครัวเรือนของแรงงานไทยปีนี้อยู่ที่ 272,528 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 25.05% แต่ยังดีที่สัดส่วนหนี้นอกระบบ ลดลงต่ำสุดในรอบ 14 ปี
สำหรับข้อเสนอของแรงงานไทยที่มีต่อรัฐบาลใหม่ ต้องการให้สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เพิ่มสวัสดิการที่ดี ทำให้เศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ฟื้นตัว เพื่อให้เกิดการสร้างงานโดยไม่ต้องเดินทางเข้าทำงานในเมือง ดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพให้สอดคล้องกับรายได้ รวมถึงการปรับค่าแรงตามความเหมาะสมของอัตราเงินเฟ้อและรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การออมเงินของแรงงานไทย พบว่าไม่มีเงินออม 73.5% มีเงินออม 26.5% มีเงินออมเฉลี่ยที่ 950 บาทต่อเดือน และส่วนใหญ่ 84.1% ไม่มีอาชีพเสริม มีเพียง 15.9% ที่มีอาชีพเสริม และแรงงานส่วนใหญ่มีหนี้ เป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายประจำวัน หนี้บัตรเครดิต ใช้คืนเงินกู้ ที่อยู่อาศัย ซื้อยานพาหนะ ส่วนการชำระหนี้ ส่วนใหญ่ชำระขั้นต่ำ