ผู้ถือหุ้น TOP ไฟเขียวการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มเติมอีก 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากวงเงินกู้ที่คงเหลือ 671 ล้านเหรียญสหรัฐ รองรับขยายการลงทุนใน 5 ปีนี้ ด้าน “บัณฑิต” ชี้ธุรกิจปิโตรเคมีปีนี้ฟื้นตัวไม่มาก
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 ได้มีมติอนุมัติกำหนดการออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทให้แก่นักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มเติม ในวงเงินรวมไม่เกิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มีระยะเวลาดำเนินการภายในปี 2570 เพื่อรองรับแผนขยายการลงทุนในช่วง 5 ปี ชำระหนี้ รวมทั้งเป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อไป
ปัจจุบันไทยออยล์ยังมีวงเงินออกและเสนอขายหุ้นกู้เดิมคงเหลืออยู่ 671 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ภายใต้แผนลงทุน 5 ปี บริษัทจำเป็นต้องจัดหาวงเงินเพิ่มอีก 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งภายหลังที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งนี้ บริษัทจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เพื่ออนุมัติในการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในแต่ละครั้งภายใต้วงเงินดังกล่าว
นายบัณฑิตกล่าวว่า แนวโน้มปิโตรเคมีในปี 2566 คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากมีกำลังการผลิตเข้าสู่ตลาด แต่จีนเปิดประเทศทำให้ความต้องการใช้ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 ไทยออยล์บันทึกการขาดทุนจากการเข้าลงทุนใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ในประเทศอินโดนีเซีย ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ 15% เนื่องจากในปีที่ผ่านมาตลาดปิโตรเคมีรับแรงกดดันอย่างมาก ทั้งด้านความต้องการใช้ที่ลดลง และกำลังการผลิตใหม่จากจีนและมาเลเซียเข้ามา ทำให้สเปรดต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้ CAP มีผลขาดทุน 149 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยออยล์รับรู้ผลขาดทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 23 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 806 ล้านบาท
ส่วนกรณีบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP เตรียมควบรวมกับบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO นั้น บริษัทเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อธุรกิจของ TOP อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากไม่มีกำลังการกลั่นใหม่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังได้อนุมัติแก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์และหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อให้ครอบคลุมการดำเนินการเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมของบริษัทเพื่อสามารถดำเนินธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในอนาคต เนื่องจากการลงทุนและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงการระดมทุนผ่านการออกโทเคนดิจิทัล เป็นวิธีการที่ได้รับการยอมรับและมีการดำเนินการอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน