กัลฟ์ฯ ฉลุยคว้ากว่า 20 โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนแบบ FiT ปี 2565-2573 คาดคิดเป็นปริมาณการขายไฟฟ้ารวม 2 พันเมกะวัตต์จากทั้งหมด 4,852.26 เมกะวัตต์ ขณะที่กันกุลฯ และ บี.กริม เพาเวอร์ ได้ 17 โครงการ 832.4 เมกะวัตต์ และ 15 โครงการ 340 เมกะวัตต์ ตามลำดับ
ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกรวมทั้งสิ้น 175 รายในโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง รวมปริมาณการเสนอขาย 4,852.26 เมกะวัตต์ (MW) เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา แบ่งเป็นพลังงานลม มีผู้ผ่านเกณฑ์ 22 ราย รวมปริมาณการเสนอขาย 1,490.20 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) 24 ราย รวมปริมาณการเสนอขาย 994.06 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน รวม 129 ราย ปริมาณการเสนอขาย 2,368.26 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวบริษัทหลักทรัพย์ฯ คาดการณ์ว่า บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF) ชนะการคัดเลือกโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) มากที่สุดกว่า 20 โครงการทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และพลังงานแสงอาทิตย์ คิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 2,000 เมกะวัตต์ ส่วนบริษัทที่ชนะการคัดเลือกรองลงมา คือ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) ได้ 17 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 832.4 เมกะวัตต์ และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) ได้ 15 โครงการ เสนอขายไฟฟ้ารวม 340 เมกะวัตต์ โดย 3 บริษัทนี้มีปริมาณการเสนอขายไฟฟ้าคิดเป็น 65% ของปริมาณการเสนอขายไฟฟ้าของโครงการทั้งหมด 4,852.26 เมกะวัตต์
นางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) กล่าวว่า บริษัทฯ ชนะการคัดเลือก 17 โครงการ แบ่งเป็นพลังงานลม 2 โครงการ พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 3 โครงการ และพลังงานแสงอาทิตย์ 12 โครงการ คิดเป็นปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 832.7 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ รวมทั้งซื้อหรือเช่าที่ดินด้วย ซึ่งจะเป็นการทยอยลงทุน เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567
บริษัทมั่นใจไม่มีปัญหาด้านแหล่งเงินทุน เนื่องจากใช้เงินส่วนทุนเพียง 25% ที่เหลือเป็นการกู้ยืม โดยบริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1 เท่ากว่า และยังมีวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นบริษัทอยู่ 1.5 หมื่นล้านบาทที่บริษัทได้ออกหุ้นกู้ไปแล้วเพียง 3-4 พันล้านบาทเท่านั้น อีกทั้งมีรายได้แต่ละปีนำไปใช้ลงทุนเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมความพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบถัดไปด้วย เนื่องจากมีโครงการที่ยังไม่ผ่านรอบนี้ราว 200-300 เมกะวัตต์ ควบคู่กับการหาพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการด้วย
ด้านนายนพเดช กรรณสูต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส-สายงานการลงทุน นวัตกรรม และความยั่งยืน บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า บริษัทมีโครงการที่ชนะการคัดเลือก 15 โครงการ คิดเป็นปริมาณการเสนอขายไฟรวม 340 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1-1.2 หมื่นล้านบาท
ที่ผ่านมาบริษัทได้ติดตามประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทย ทั้งการหาพื้นที่ที่มีศักยภาพที่ใกล้ระบบสายส่ง รวมทั้งจับมือพันธมิตรที่มีจุดแข็งเสริมกัน เป็นต้น ส่วนการยื่นเสนอขายไฟฟ้าโครงการดังกล่าวในรอบถัดไป ถ้าบริษัทมีความพร้อมก็จะยื่นโครงการเสนอขายไฟฟ้าด้วย
อย่างไรก็ตาม การประกาศรายชื่อผู้ชนะการคัดเลือกฯ ในครั้งนี้มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อีกหลายรายที่ได้รับเลือกด้วย เช่น บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (TSE ) 5 โครงการ รวม 70 เมกะวัตต์ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG จำนวน 5 โครงการ รวม 12 เมกะวัตต์, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จำนวน 2 โครงการ รวม 16 เมกะวัตต์, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH รวม 20 เมกะวัตต์ ฯลฯ ขณะที่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO และบริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC ไม่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้