“กฟผ.” ปรับแผนรับมือกรณีโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน 650 เมกะวัตต์ไม่ถูกบรรจุอยู่ในแผน PDP 2023 เหตุก๊าซฯ ตามสัญญาจะป้อนได้ถึงแค่ปี 2574 เท่านั้น โดยเตรียมลงทุน 1,200 ล้านบาทเพื่อยืดอายุโรงไฟฟ้าต่ออีก 8 ปี และพัฒนา Namphong Green Energy Model ตอบโจทย์พลังงานสะอาดลดคาร์บอนฯ
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนพลังงานชาติ และแผนพลังงานที่เกี่ยวข้องยังเดินหน้าจัดทำต่อเนื่องแม้ว่าจะเป็นช่วงเลือกตั้ง โดยเบื้องต้นร่างแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ฉบับใหม่ (PDP 2023 ปี 2566-80) มีการพิจารณาเรื่องภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปด้านพลังงานและแผนลดการปลดปล่อยคาร์บอนฯ ไปสู่ NET ZERO ของประเทศ โดยเบื้องต้นในส่วนของโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน 650 เมกะวัตต์ เดิมอยู่ในแผนปัจจุบันแต่แผนฉบับใหม่ไม่ได้บรรจุไว้ เนื่องจากปริมาณก๊าซฯ ในภาคอีสานมีไม่เพียงพอ ต้องสร้างท่อเชื่อมจาก จ.นครราชสีมามายังโรงไฟฟ้า ต้องลงทุนวางท่อเพิ่มระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ซึ่งต้องลงทุนสูงและจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าด้วย ดังนั้น การทำงานของโรงไฟฟ้าน้ำพองจึงพิจารณาเพียงการปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้มีอายุใช้งานครอบคลุมถึงปริมาณก๊าซฯ ที่คาดว่าจะมีถึงปี 2574 เท่านั้น
นายอลงกรณ์ พุ่มรักธรรม ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าน้ำพอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า สถานการณ์โรงไฟฟ้าพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพองชุดที่ 1 และ 2 กำลังผลิตประมาณ 650 เมกะวัตต์ โดยรับก๊าซแหล่งน้ำพอง จ.ขอนแก่น และแหล่งสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี แต่อายุโรงไฟฟ้า 25 ปีทำให้ปัจจุบันได้มีการต่ออายุจนรวมเป็น 34 ปี กฟผ.จึงมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนซึ่งกำหนดที่จะต้องจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) 1 มกราคม 2569 แต่แผนยังไม่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลทำให้ต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ว่าจะบรรจุเข้าไปในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2566-80 (PDP2023 ) หรือไม่อย่างไร
“ปัจจัยเสี่ยงของโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทนคือการที่ล่าสุดกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานได้ยืนยันปริมาณก๊าซฯจะมีป้อนเพียงพอถึงปี พ.ศ. 2574 เท่านั้นทำให้ กฟผ.เองได้เสนอให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ส่งก๊าซผ่านท่อจากจ.นครราชสีมามายังโรงไฟฟ้าซึ่งต้องลงทุนวางท่อเพิ่มระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้พิจารณาความเป็นไปได้ ซึ่งยอมรับว่าโรงไฟฟ้าทดแทนหากจะให้ทันแผนเดิมที่วางไว้จะต้องก่อสร้างในปีนี้แล้ว” นายอลงกรณ์กล่าว
ทั้งนี้ กฟผ.ได้มีการเตรียมแผนงานเอาไว้แล้วกรณีที่ท้ายสุดโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทนไม่ถูกบรรจุไว้ในแผน PDP 2023 โดยแบ่งเป็น 2 แนวทางที่จะดำเนินการควบคู่กันไป ได้แก่ 1. การลงทุนเพิ่มเติมประมาณ 1,200 ล้านบาทเพื่อต่ออายุโรงไฟฟ้าน้ำพองชุดที่ 1 และ 2 ออกไปอีกประมาณ 8 ปีเพื่อรองรับปริมาณก๊าซฯ ที่จะหมดลงในปี พ.ศ. 2574 และ 2. การพัฒนาโครงการน้ำพอง กรีน เอ็นเนอร์ยี โมเดล (Namphong Green Energy Model) เพื่อตอบโจทย์การลงทุนอนาคตที่มุ่งเน้นพลังงานะอาดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่
1. ศึกษาการใช้ศักยภาพหลุมก๊าซฯ ในพื้นที่มากักเก็บคาร์บอนหรือเทคโนโลยี CCS (Carbon Capture and Storage) 2. ศึกษาการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ในการผลิตเป็น Green Hydrogen 3. ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCU) รูปแบบ Carbon Recycle และ Biological Conversion 4. การผลิตไฟฟ้าจาก Fuell Cell 30 เมกะวัตต์หลังหมดสัญญาก๊าซปี 2574
“ขณะนี้ กฟผ.เองก็มองในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเคลื่อนที่ในการเป็นต้นแบบในพื้นที่โรงไฟฟ้าน้ำพอง เพื่อแก้ไขปัญหาขยะชุมชนในพื้นที่ โดย กฟผ.ได้ลงทุนตัวรถ พร้อมระบบคัดแยกที่เน้นการใช้ขยะแห้งมูลค่าราว 40 ล้านบาทต่อระบบ โดยจะใช้ขยะราว 1 ตันต่อชั่วโมงหากเดินเครื่องทั้งวันก็จะใช้ราว 24 ตันต่อวันเพื่อผลิตไฟฟ้าแล้วจ่ายกลับให้กับชุมชน ซึ่ง กฟผ.มีเป้าหมายที่จะขยายผลต่อไป โดยเบื้องต้นถือว่าเทคโนโลยีไปได้ แต่อุปสรรคสำคัญคือต้องใช้ขยะแห้งเป็นเชื้อเพลิงจึงจำเป็นต้องรณรงค์การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง” นายอลงกรณ์กล่าว