มูลนิธิอรุณ สรเทศน์ เปิดตัวกิจกรรม “The Saver คิด(ส์) ก่อนใช้” เพื่อศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงสร้างการรับรู้และความตระหนักรู้ในด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคครัวเรือน
โดยได้รับการสนับสนุนหลักจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานต่างๆ หลายภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ บริษัท อีทราน (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมจัดเสวนาแบบไฮบริด “Towards Sustainable Consumption: เรียนรู้...ปรับพฤติกรรม นำสู่การบริโภคอย่างยั่งยืน” เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ให้กับคนในสังคมผ่านการเรียนรู้และปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะด้านพลังงาน เพื่อมุ่งสู่การบริโภคที่ยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และผู้แทนจากมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ กล่าวถึงความสำคัญในการร่วมสร้างการรับรู้และความตระหนักรู้ รวมถึงศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้พลังงานในภาคครัวเรือนที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศได้อย่างยั่งยืนท่ามกลางวิกฤตการณ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที อีกทั้งการดำเนินกิจกรรมนี้ สอดรับกับการดำเนินงานของประชาคมจุฬาฯ ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ลดก๊าซเรือนกระจกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2040 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในที่สุด ภายในปี ค.ศ. 2050 รวมถึงวางแผนผลักดันให้ประชาคมจุฬาฯ ร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน หรือ Chula 2050 Net-Zero Transition ผ่านหนึ่งในกลยุทธ์อย่างการปรับเปลี่ยนเป็น Zero-Carbon Energy System โดยเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนและลดการใช้ไฟฟ้าภายในจุฬาฯ
ด้าน ดร.ณัฐวิญญ์ ชวเลิศพรศิยา ผู้อำนวยการโครงการ Industrial Liaison Program (ILP) คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวถึงกิจกรรม “The Saver คิด(ส์)ก่อนใช้” ว่า จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจในการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคครัวเรือนผ่านการจัดประกวดแข่งขัน อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมนี้จะมีการสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าโดยมีผู้เชี่ยวชาญในภาคส่วนต่างๆ ผ่านการประชุมเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมการแบ่งปันประสบการณ์ อุปสรรค และเทคนิคการประหยัดไฟของแต่ละครัวเรือน อันนำไปสู่การศึกษาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าและแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานแก่สาธารณชนผ่านการเผยแพร่ชุดคอนเทนต์ประกอบอินโฟกราฟฟิกผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์และการจัดนิทรรศการ โดยคาดหวังว่าภาคประชาชนจะได้รับความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อมูลด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า แนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคครัวเรือน รวมถึงลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สนับสนุนการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ
นางสาวกฤติกา ราษีสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม 1 ผู้แทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของกิจกรรม เล่าถึงที่มาในการสนับสนุนกิจกรรม “The Saver คิด(ส์)ก่อนใช้” ว่า กฟผ. ได้ตอบรับเจตนารมณ์ที่ทางประเทศไทยได้ประกาศในการประชุมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 โดยประกาศนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 เพื่อร่วมผลักดันเป้าหมายของประเทศที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์
ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินกิจกรรมมุ่งเน้นความสำคัญด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมร่วมกับทุกภาคส่วนมาอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาในการสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิอรุณ สรเทศน์ ในกิจกรรมส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนผ่านการประกวดแข่งขันสร้างแรงจูงใจ หรือ กิจกรรม “The Saver คิด(ส์)ก่อนใช้” โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยก่อให้เกิดความตระหนักถึงวิกฤตการณ์ด้านพลังงาน โดยเฉพาะด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดการลดการใช้พลังงานจากภาคประชาชน เพื่อร่วมเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนร่วมกัน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสวนาแบบไฮบริด “Towards Sustainable Consumption: เรียนรู้...ปรับพฤติกรรม นำสู่การบริโภคอย่างยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรที่มาจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองในการนำพาประเทศไทยมุ่งสู่การบริโภคที่ยั่งยืน โดยเฉพาะด้านพลังงานผ่านการเรียนรู้และการปรับพฤติกรรม โดยนางสาวกฤติกา ราษีสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารด้านการใช้ไฟฟ้าและกิจการเพื่อสังคม 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่าวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นจากความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ด้านการผลิตไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการลดกำลังการผลิตขององค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก หรือ OPEC ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยที่ใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลักได้รับผลกระทบ และส่งผลให้ค่าไฟเพิ่มสูงขึ้นจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากค่าต้นทุนผันแปร ซึ่งทาง กฟผ. ได้มีการพยายามบรรเทาปัญหานี้ด้วยการเพิ่มการใช้พลังงานอื่นๆนอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติ และมีนโยบาย EGAT For All และ 3อ (อุปกรณ์ อาคาร และอุปนิสัย) เพื่อสร้างความยั่งยืนในการประหยัดพลังงาน
ด้านนายสมบูรณ์ เลิศวรชัย ผู้จัดการทั่วไป ผู้บริหารกลุ่มงานวิศวกรรมบริการเครื่องกลและไฟฟ้า บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กล่าวถึงการให้ความสำคัญเรื่องการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของทางบริษัทที่ได้มีการกำหนดเรื่องการประหยัดพลังงาน เป็น 1 ในนโยบายขององค์กรในการดำเนินธุรกิจที่ตอบโจทย์ในเรื่องความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการจัดตั้งคณะทำงานด้านการจัดการพลังงานและมอบหมายให้ทุกส่วนงานร่วมมือและจัดหามาตรการต่างๆ พร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อช่วยให้งานเกิดความสัมฤทธิ์ผลอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง อาทิ การเปลี่ยนมาใช้หลอด LED การควบคุมระบบแสงสว่างให้เป็นแบบอัตโนมัติตามบริเวณพื้นที่ต่างๆ ภายในศูนย์การค้า โครงการเปลี่ยน Chiller ใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งผลของการดำเนินการส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เน้นให้มีการใช้พลังงาน อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องมีการลงทุนใช้งบประมาณ แม้ว่าผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจ อาจจะไม่สามารถคืนทุนได้เร็ว แต่ในระยะยาวจะส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่ายของทางบริษัทและทำให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืนมากขึ้น และทางกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์เองยังส่งเสริมการจัดกิจกรรมให้เกิดความตระหนักทางด้านความยั่งยืนนอกจากนี้ คุณสมบูรณ์ยังกล่าวถึงความสำคัญของการร่วมมือของหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทางผู้บริหาร พนักงาน ผู้เช่าในศูนย์การค้า ลูกค้า เพื่อทำให้เกิดการบริโภคอย่างยั่งยืน
ขณะที่นายสรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุด Saturday School Foundation กล่าวถึงความสำคัญของเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต และเป็นยุคที่ยังต้องเผชิญกับวิกฤติพลังงานต่อไป ทางคุณสรวิศได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของกิจกรรม “The Saver คิด(ส์)ก่อนใช้” ถึงการสร้างลักษณะนิสัยที่คุ้นเคยกับการประหยัดพลังงานและทำให้เกิดการพัฒนาทักษะในการตั้งคำถาม เพื่อเกิดการเรียนรู้ เข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น ในปัจจุบันนั้นการเรียนรู้ในคาบเรียนอาจไม่เพียงพอ การเรียนรู้นอกห้องเรียนจึงมีความจำเป็นในการพัฒนาตนเองให้มีความพร้อม มีคุณภาพชีวิตที่ดี ขับเคลื่อนสังคมและสิ่งแวดล้อมไปสู่ความยั่งยืน ในส่วนของ Saturday School Foundation นั้นมีการทำงานร่วมกับอาสาสมัคร ให้อาสาสมัครได้เรียนรู้ก่อนถ่ายทอดไปสู่เด็กๆ ทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์ เนื่องจากเด็กเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากจุดเล็กๆ จากเด็กไปสู่ครอบครัว ครอบครัวสู่สังคม และมีสื่อช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน
และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรัฐ ขวัญเมือง ผู้ช่วยคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เล่าถึงที่มาของการเกิดการปลดปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้นได้จากกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน และกล่าวถึงการดำเนินการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ต้องร่วมหาทางให้เกิดการดำเนินการอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการลดคาร์บอนที่แหล่งกำเนิดด้วยการใช้พลังงานทดแทน ลดการใช้ไฟฟ้า การกักเก็บคาร์บอนด้วยการเพิ่มปริมาณต้นไม้และเทคโนโลยี CCUS รวมถึงความตระหนักว่าทุกๆการกระทำของเรามีผลต่อการสร้างคาร์บอนเพิ่มขึ้นหรือลดลง ถึงแม้เป็นแค่เรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าทุกคนทำ ก็จะเกิดผลในภาพใหญ่ นอกจากนี้ ยังได้ทิ้งท้ายถึงบทบาทของสถาบันการศึกษาที่ก่อให้เกิดการร่วมมือกับหลายภาคส่วนให้เกิดการขับเคลื่อนการบริโภคอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สามารถรับชมกิจกรรมเสวนาย้อนหลังได้ที่ facebook.com/iloveenvi และสำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรม “The Saver คิด(ส์)ก่อนใช้” สามารถสมัครได้ที่ shorturl.at/szOS2 โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 12 เมษายน 2566 และประกาศผลการคัดเลือกวันที่ 19 เมษายน 2566 ทาง Facebook: เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา