xs
xsm
sm
md
lg

กกร.หวังรัฐทบทวนค่าไฟ พ.ค.-ส.ค. 66 เหลือไม่เกิน 4.40 บาท/หน่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กกร.ยื่นหนังถึงนายกฯ พรุ่งนี้ (10 เม.ย.) ขอทบทวนค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 66 เพื่อลดภาระรายจ่ายประชาชน โดยขอให้เฉลี่ยไม่ควรเกิน 4.40 บาทต่อหน่วยขณะที่ “กกพ.” ยอมรับว่าระเบียบ กกพ.จะไม่ทบทวน ขณะที่ค่าไฟช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนส่อแววพุ่งหลังรัฐไม่มีงบช่วยเหลือ 8,000 ล้านบาท

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เตรียมส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 10 เม.ย. หลังจากที่ประธานทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย ได้ลงนามในหนังสือเรียบร้อยแล้วเพื่อขอให้ทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด พ.ค.-ส.ค. 66 ใหม่ที่เห็นว่าอัตราที่เหมาะสมไม่ควรจะเกิน 4.40 บาทต่อหน่วย

“กกร.ได้ประชุมเมื่อ 22 มี.ค. และมีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่า Ft พ.ค.-ส.ค. 66 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เห็นชอบที่อัตราเดียว 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย กกร.จึงจะทำหนังสือถึง กพช.ให้ทบทวนเพื่อลดภาระของภาคประชาชนในครัวเรือน และภาคธุรกิจ” นายอิศเรศกล่าว

สำหรับเหตุผลหลักที่ทบทวนคือ 1. จากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การเร่งคืนหนี้ค่าไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากเดิมที่มีแผนคืนให้ในระยะเวลา 3 ปี (ตามงวด 1/2566) และเปลี่ยนเป็น 2 ปี (ตามงวด 2/2566) อาจเร็วเกินไปจนส่งผลกระทบต่อภาระของประชาชน และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ กกร.จึงเสนอให้คงระยะเวลาการคืนหนี้ให้ กฟผ.เป็นระยะ 3 ปี ตามงวด 1/2566

2. ควรพิจารณาปรับวิธีประมาณการราคาตันทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคาก๊าซธรรมชาติเหลวหรือ LNG ที่ใช้คำนวณต้นทุน ค่าไฟฟ้า โดยใช้ราคาที่สะท้อนแผนการนำเข้า LNG ในช่วงพฤษภาคม- สิงหาคม 2566 แทนการใช้ข้อมูลราคาของเดือนมกราคม 2566 ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าเพื่อบรรเทาผลกระทบราคาไฟฟ้าของทุกภาคส่วนลงได้

นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการ กำหนดนโยบายด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรเทาผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และภาคผู้ประกอบการรายย่อยได้อย่างแท้จริง และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

รายงานข่าวจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แจ้งว่า แม้ว่าล่าสุด กฟผ.จะได้ทำหนังสือขอทบทวนระยะเวลาการคืนหนี้อุดหนุนค่าไฟฟ้าดังกล่าวจาก 2 ปีเป็น 2 ปี 4 เดือน หรือจากเดิมต้องชำระเสร็จสิ้นเริ่มจาก ม.ค. 66 สิ้นสุดใน ธ.ค. 67 ขยายเวลาเป็น เม.ย. 68 (ข้อเสนอใหม่กำหนดทยอยชำระคืนงวดที่เหลือค้างนับจากสิ้น เม.ย. 66 เป็น 6 งวดค่าไฟเอฟทีเฉลี่ยงวดละ 22,000 ล้านบาทจากเดิมกำหนดชำระ 5 งวด งวดละ 27,000 ล้านบาท) ซึ่งจะช่วยให้ค่าไฟงวด 2/66 ลดลงได้เฉลี่ย 7 สตางค์ต่อหน่วยหรือค่าไฟเฉลี่ยลดจาก 4.77 บาทเหลือประมาณ 4.70 บาท/หน่วย อย่างไรก็ตาม บอร์ด กกพ.ได้หารือเบื้องต้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเพราะตามระเบียบ กกพ.จะไม่ทบทวนเพราะได้มีมติและจัดทำรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันยังมีรายงานข่าวถึงการจัดหางบกลางฯ มาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนไม่ให้กระทบค่าไฟขยับขึ้น ล่าสุดคลังไม่สามารถจัดสรรงบกลางมาสนับสนุนได้เพราะต้องใช้งบสูงถึง 8,000 ล้านบาท โดยในงวด 1/66 ใช้เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าบ้านกลุ่มนี้ราว 7,500 ล้านบาท แต่รัฐจะอุดหนุนเฉพาะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 315 บาท/เดือน และบอร์ด กกพ.ไม่ทบทวนค่าไฟฟ้าก็จะส่งผลให้คนส่วนใหญ่ของประเทศจ่ายค่าไฟงวดนี้เพิ่มขึ้น

งวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย. 66) ผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือนได้ส่วนลด 1.39 สตางค์/หน่วย ดังนั้นหากไม่อุดหนุนราคาก็จะขึ้นอีกราว 1.44 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151 - 300 หน่วยต่อเดือน งวดปัจจุบันได้ส่วนลด 26.39 สตางค์/หน่วย งวดใหม่ก็จะจ่ายเพิ่มอีก 26.44 สตางค์ต่อหน่วย
กำลังโหลดความคิดเห็น