“ส.อ.ท.” ฝาก 3 คำถามให้รัฐบาลพิจารณาหลังมองค่าไฟฟ้างวด ม.ค.-ส.ค. 66 ที่ประกาศออกมาเฉลี่ย 4.77 บาทต่อหน่วยอัตราเดียวเลือกใช้สมมติฐานที่ไม่อัปเดต เร่งรัดซื้อไฟสะอาดเพิ่มทั้งๆ ที่เอกชนกำลังฟ้องร้อง ซื้อไฟเพื่อนบ้านเพิ่มทั้งที่สำรองล้น ไม่สนใจแก้ปัญหาที่โครงสร้าง หวังทีม ศก.รัฐบาลใหม่จะนำไปแก้ไข พร้อมเสนอคิดค่าไฟทุก 2 เดือนจาก 4 เดือนเพื่อสะท้อนปัจจัยต่างๆ ได้เร็วขึ้น
วันที่ 23 มี.ค. นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ตั้งคำถามส่งถึงภาครัฐถึงการบริหารจัดการไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศที่กระทบครัวเรือนทุกคน ตลอดจนถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคธุรกิจ ที่กำลังเร่งฟื้นฟูในช่วงภาวะเศรษฐกิจของโลกชะลอตัว และแข่งขันรุนแรงในระดับประเทศ โดยมีคำถามดังนี้
คำถาม ที่ต้องการคำตอบ จากผู้รับผิดชอบ??
1) สมมติฐานการคำนวณค่าไฟฟ้าที่ไม่ตอบโจทย์ 1.1 ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด 1/66 (ม.ค.-เม.ย. 66) เลือกใช้สมมติฐานช่วง Peak ทั้งต้นทุนพลังงานโลก และค่าเงินบาท ผลคือ ภาคธุรกิจต้นทุนสูงขึ้น 13% จาก 4.72 เป็น 5.33 บาท/หน่วย (เมื่อ 28 ธ.ค. 65) แต่ต้นเดือน ม.ค. 66 ก็พบว่าสมมติฐานที่วางไว้สูงเกินไป
1.2 ค่าไฟฟ้างวด 2/66 (พ.ค.-ส.ค. 66) ช่วงต้นทุนพลังงานของโลกต่ำลง รวมค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ภาครัฐกลับเลือกใช้สมมติฐานตัวเลขของเดือน ม.ค. 66 * (ที่ไม่ updated กับภาวะขาลง) ในการประชุม @ 22 มี.ค. 66 แต่คนไทยต้องรับตัวเลขค่าไฟฟ้าที่สูงเกินจริงตลอด พ.ค.-ส.ค. 66 เพื่ออะไรครับ? ใครได้ประโยชน์ครับ?
2) การเร่งรัดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนเพิ่ม! ไม่ว่าจะเป็นโครงการใดๆ ในช่วงปลายเทอมของรัฐบาล เช่น… 2.1 ไฟฟ้าสีเขียว ทั้ง 5,203 MW และส่วนเพิ่ม 3,668 MW แบบเร่งรีบ ทั้งๆ ที่กำลังมีเอกชนหลายรายยื่นฟ้องขอการคุ้มครองจากศาลปกครอง ต่อกระบวนการคัดเลือกที่น่ากังขา 2.2 โครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น ทั้งๆ ที่ ประเทศไทยยังมีการผลิตของโรงไฟฟ้า มากกว่าความต้องการกว่า 50% ไม่ควรจะเร่งรีบในช่วงปลายเทอมรัฐบาล
3) ปัญหาเชิงโครงสร้าง และนโยบาย กลับไม่มีใครพูดถึงทางออกใดๆ เช่น… 3.1) ต้นทุนที่สูงของค่าไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น ค่าพร้อมจ่าย, ต้นทุนแฝงอื่นๆ จากภาวะ Supply over Demand กว่า 50% 3.2) สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหลือ 30% ขณะที่สัดส่วนของเอกชน รวมการนำเข้าสูงถึง 70% 3.3) การจัดสรรก๊าซธรรมชาติ (NG) ในอ่าวไทย และอื่นๆ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ ให้เหมาะสม เป็นธรรม ระหว่างภาคปิโตรเคมีกับไฟฟ้า 3.4) การแข่งขันเสรี (ผ่าน TPA) ในระบบ Logistics ของไฟฟ้า และ NG เพื่อลดการผูกขาดใดๆ
“ผลประโยชน์เรื่องค่าไฟฟ้า มองง่ายๆ ตามหลัก "Zero Sum Game" เราสามารถสรุปได้ว่าประชาชนคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพง ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนหลายรายต่างก็มีผลประกอบการที่มีกำไร และเติบโตกันถ้วนหน้าท่ามกลางที่ กฟผ. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจหลักในการดูแลไฟฟ้าของประเทศ เหลือสัดส่วนเพียง 30% และแบกภาระหนี้ร่วม 1 แสนล้านบาท จากการแบกภาระอุ้มกลุ่มเปราะบาง (แก้ปัญหาปลายเหตุ) ผมจึงขออนุญาตฝากการบ้านถึงทีมบริหารเศรษฐกิจที่เก่งๆ ของแต่ละพรรคการเมือง ให้ช่วยหาทางออก และคำตอบที่ดีให้แก่พี่น้องประชาชนคนไทยด้วย
ผมมั่นใจว่าคนที่ทำความดีเพื่อส่วนรวม ตลอดจนการดำรงถึงความซื่อสัตย์ในอาชีพของตน ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งอหนืออื่นใด ต้องได้รับผลตอบแทนที่ดีทั้งต่อตนเองและครอบครัวตลอดไปครับ” นายอิศรเรศกล่าว
พร้อมกันนี้ นายอิศเรศได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการคิดค่า Ft ในช่วงพลังงาน และเศรษฐกิจโลกผันผวน ว่าควรเปลี่ยนจาก 3 งวด/ปี หรืองวดละ 4 เดือน เป็น 6 งวด/ปี หรือทุก 2 เดือน เพื่อ dynamic และ response ต้นทุนค่าไฟฟ้าได้รวดเร็ว แม่นยำ มากขึ้น